แรงงาน 4 แสนคนเคว้ง ส่งออกการ์เมนต์สูญ 3 หมื่นล้าน ต่ำสุดรอบ 60 ปี

ภาพจากเฟซบุ๊ก Thaigarment.org

วิกฤตอุตสาหกรรมสิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่มหนักสุดรอบ 60 ปี โควิด-19 ทุบยอดส่งออกดิ่งนรก 30,000 ล้าน สะเทือนแรงงาน 400,000 คน ส่งผล “โรงงานห้องแถว” สังเวยปิดตัว กระทบซัพพลายเชนเสียหายทั้งระบบ  คาดไม่เกิน 4 ปี จากผู้ผลิตป้อนตลาดโลกรายใหญ่ ไทยจะกลายเป็นประเทศผู้นำเข้า

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกเสื้อผ้าทั่วโลก แบรนด์ชั้นนำอย่าง “MUJI” ในสหรัฐได้ยื่นล้มละลายและปิดกิจการไปถึง 18 สาขา “Nike” ก็ขาดทุนถึง 790 ล้านเหรียญสหรัฐ และเตรียมปลดพนักงานทั่วโลก “ZARA” ปิดกิจการไป 250 สาขาทั่วโลก แบรนด์ “Victoria’s Secret” ในอังกฤษประกาศล้มละลายปิดสาขา 250 สาขา ส่วน “Chanel” ประกาศหยุดกิจการผลิตที่ประเทศสหรัฐ-สวิตเซอร์แลนด์ และขึ้นราคากระเป๋าเพื่อชดเชยรายได้ 20% ส่วนผู้ประกอบการไทยล่าสุดอย่างกระเป๋าผ้า “นารายา” ก็เป็นอีกหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับผลกระทบจนต้องประกาศปิดโรงงาน 2 จาก 3 แห่ง และปิดร้านขายปลีกประมาณ 10 แห่ง หลังจากออร์เดอร์ลูกค้าหลักอย่างนักท่องเที่ยวจีนหายไป

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าจะกระทบต่อตลาดส่งออกเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีมูลค่า 200,000 ล้านบาทต่อปี ผู้ผลิตเสื้อผ้าไทยทั้งที่เป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) ให้แบรนด์ดัง หรือเจ้าของแบรนด์ ที่เคยประสบความสำเร็จระดับนานาชาติต้องตัดสินใจลดเวลาทำงาน การปิดโรงงานแบบชั่วคราว ไปจนถึงการปิดโรงงานอย่างถาวรด้วยการประกาศขายเครื่องจักรและลดการจ้างงานลง

ช็อกรุนแรงสุดรอบ 60 ปี

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลจากโควิดทำให้ตลาดเสื้อผ้า “หดตัวรวดเร็วและรุนแรง” โดยมูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกหายไปแล้วประมาณ 15,000 ล้านบาท ส่วนแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกในครึ่งปีหลัง หากออร์เดอร์สำหรับปีใหม่-คริสต์มาส ไม่เข้ามาช่วย คาดว่าภาพรวมการส่งออกเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มทั้งปีนี้จะหายไปประมาณ 30,000 ล้านบาท หรือลดลง 25-30% ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี เทียบกับช่วงที่ “ยกเลิกโควตาสิ่งทอ” ตอนนั้นลดลงหนักที่สุดก็แค่ 10% และหากสถานการณ์ยืดเยื้อ สมาคมคาดว่าจะมีผู้ผลิตในอุตสาหกรรมนี้ไม่ต่ำกว่า 20% ต้องปรับเปลี่ยนอาชีพไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ที่มีอยู่ประมาณ 400,000 คนทันที

“ช่วงแรกที่โควิดระบาดเดือนมีนาคม-เมษายน ผู้ผลิตยังไม่ปิดโรงงาน เพราะเมื่อออร์เดอร์เสื้อผ้าหายไปก็หันไปเร่งผลิตหน้ากากอนามัยผ้าแทน แต่จนถึงเดือนกรกฎาคมปริมาณหน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้าก็เริ่มล้นตลาดแล้ว มาถึงเดือนนี้เราก็ยังส่งออกหน้ากากผ้าไม่ได้ เพราะคู่แข่งทั้งบังกลาเทศ-อินโดนีเซีย-จีน-เวียดนาม-กัมพูชา-เมียนมา ต่างก็หันมาทำหน้ากากอนามัยเช่นกัน ราคาลดลงทุกอาทิตย์ ผลก็คือกลุ่มโรงงานขนาดเล็กพวกโรงงานห้องแถวจะปิดตัวไปก่อนและโรงงานพวกนี้จะหายไปเลย ซึ่งกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคม จากนั้นก็จะขยับขึ้นมาถึงโรงงานขนาดกลาง-ใหญ่ นับจากเดือนนี้เป็นต้นไปจะเห็นภาพการปิดโรงงาน ทั้งแบบชั่วคราว 2-3 เดือน เพื่อใช้สิทธิ 62% ตามมาตรา 33 ประกันสังคมที่จะหมดในเดือนนี้ รวมถึงการลดเวลาทำงานเหลือ 4-6 วัน/สัปดาห์หรือสัปดาห์เว้นสัปดาห์ เวิร์กวิทเอาต์เพย์ และจะปิดถาวรมากขึ้นตามสถานการณ์ของแต่ละโรงงาน” นายยุทธนากล่าว

ผู้ผลิตกลายเป็นผู้นำเข้าเสื้อผ้า

แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือ “ปัญหาซัพพลายเชนขาด” เพราะเมื่อเสื้อผ้าขายไม่ได้ก็จะกระทบไปถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งซัพพลายเชน เช่น เส้นด้าย-ย้อม-ทอ-ซิป-กระดุม และส่วนประกอบต่าง ๆ จากซัพพลายเชนที่ไทยเคยมีครบตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ แค่ปิดโรงงานชั่วคราว 2-3 เดือน “ออร์เดอร์” ลูกค้าก็หายไปแล้ว และที่สำคัญแรงงานก็จะหายไปด้วย การจะฟื้นคืนกลับมายาก โอกาสที่ปีหน้าจะฟื้นมีแค่ 70-80% หากจะกลับมาแข็งแรงได้คงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ประกอบกับทุกประเทศที่เป็นผู้ผลิตเสื้อผ้า-เครื่องนุ่งห่ม ทั้งจีน-เวียดนามก็มีสินค้าเหลือจะส่งออกมาขายในตลาดโลกที่แคบลงมากขึ้น ท้ายสุดประเทศไทยก็จะกลายเป็นผู้ซื้อเสื้อผ้า “ผมมองว่าจุดตัดจะอยู่ที่ในอีกไม่เกิน 4 ปีข้างหน้า เพราะเท่าที่ดูตัวเลขนำเข้าเสื้อผ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องปีละ 20% แต่ยอดส่งออกโตแค่ 1-5% โดยในปี 2562 มียอดนำเข้าถึง 170,000 ล้านบาท ขยับใกล้กับตัวเลขส่งออกที่ 220,000 ล้านบาทเข้ามาทุกทีแล้ว”

เวียดนามคว้าแต้มต่อ FTA

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มในขณะนี้ก็คือ “โควิด” ตามด้วยปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าจากการที่ดอลลาร์อ่อน ปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ซึ่งต้องรอหลังการเลือกตั้งสหรัฐในเดือนพฤศจิกายนสิ้นสุดลงว่าใครจะเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีและจะมีนโยบายอย่างไร ขณะที่ประเทศไทยก็มีเรื่องความชัดเจนของการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างประเทศ เช่น การเข้าร่วมเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย-สหภาพยุโรป ความตกลง CPTPP จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร

“เวียดนามทำความตกลง FTA กับอียูไปแล้ว ได้รับการลดภาษี 12.5% เรื่องนี้สำคัญมาก เราจึงเห็นว่าจะมีนักลงทุนไปเวียดนามมากขึ้น บางรายปิดโรงงานที่ไทยเพื่อไปขยายที่เวียดนาม ส่งผลให้ขณะนี้เวียดนามมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกได้มากกว่าไทย 4 เท่า ขณะที่กัมพูชาผลิตและส่งออกมากกว่าไทย
2 เท่า และเมียนมาจะแซงไทยในอีก 2-3 ปีข้างหน้า” นายยุทธนากล่าว

FN ปิดสาขาหาดใหญ่

ขณะที่นายปรีชา ส่งวัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอฟเอ็น เอ๊าท์เลท จำกัด (มหาชน) หรือ FN กล่าวว่า เอฟเอ็น เอ๊าท์เลท มีจำนวนสาขาทั้งหมด 12 แห่ง แต่ล่าสุดได้ปิดสาขาที่อำเภอหาดใหญ่ไป 1 แห่ง ซึ่งเป็นพื้นที่เช่าแยก “แต่ในหาดใหญ่เรายังคงเหลืออีก 1 สาขา ที่ห้างไดอาน่า”

อนาคตของ FN จะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น จะต้องมีความทันสมัยมีการใช้ช่องทางออนไลน์ เพราะในช่วงโควิดช่องทางออนไลน์สามารถสร้างยอดขายเติบโต 3 เท่า ซึ่งการบริหารจัดจำนวนคนในแต่ละสาขาอาจจะไม่ต้องมาก แต่เน้นใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ

“หากเทียบวิกฤตตอนปี 2540 ที่เราหันมาทำเอาต์เลตในประสบการณ์ เรามองว่ามันเป็นคนละแบบช่วงปี 2540 เราเป็นศูนย์กลางต้มยำกุ้งของวิกฤต แต่ครั้งนี้มันเกิดขึ้นทั้งโลก ส่งออกทั่วประเทศลดลง การจับจ่ายน้อยลงไปหมด ช่องทางที่เราจะพลิกฟื้นกลับมาได้เร็ว ตอนเกิดต้มยำกุ้งเรามองว่าต้องทำ FN เอ๊าท์เลท แต่ตอนนี้แน่นอนว่าหลังโควิดเกิดพฤติกรรมใหม่ new normal คนมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป แต่ดีที่จุดสำคัญที่ FN ได้เปรียบก็คือ สินค้าของเราส่วนใหญ่ 65-70% เป็นแบรนด์สินค้าของเราเอง ส่วนแบรนด์อื่น ๆ ที่เรานำเข้ามาจำหน่ายมีเพียงแค่ 30% ดังนั้น คนที่เปลี่ยนเร็วจะรอด ธุรกิจค้าปลีกกำลังถูกดิสรัปชั่น เราไม่เพิ่มจำนวนสาขา แต่จะใช้ช่องทางออนไลน์แทน เรามองค้าปลีกจะไปทิศทางไหน อาจเป็นไปใน corporate to customer (C to C) ที่ต้องวิธีการเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มีผู้ซื้อกับผู้ขายไม่ต้องมีคนกลาง หรือ B to B อันนี้ก็ปกติ เราจะไม่พึ่งเอาต์เลตอย่างเดียว” นายปรีชากล่าว