ประมงพื้นบ้านชุมพร ร้องยื่นขอชะลอบังคับใช้มาตรา 34 ชี้กระทบท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

เมื่อเวลา 16.15 น.วันที่ 6 ตุลาคม 2560 ที่สำนักงานประมงจังหวัดชุมพร ถ.ประชาอุทิศ เขตเทศบาลเมืองชุมพร นายณรงค์ ม่วงทองคำ ประธานกลุ่มวิสาหกิจประมงชายฝั่งอำเภอปะทิว นายสมโชค พันธุรัตน์ ประธานกลุ่มการท่องเที่ยวโดยชุมชน อ.ปะทิว และตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านใน อ.ปะทิว จ.ชุมพร เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อตัวแทนประมงจังหวัดชุมพร เพื่อขอให้ส่งต่อไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร และอธิบดีกรมประมง เรื่อง ขอความอนุเคราะห์ให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายประมง มาตรา 34 เขตทะเลชายฝั่ง สรุปได้ว่า สืบเนื่องจากคณะกรรมการประมงจังหวัดชุมพร ได้พิจารณาตามนโยบายของรัฐตามมาตรา34เขตทะเลชายฝั่ง ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล และไม่ต่ำกว่า 1.6 ไมล์ทะเล จากการพิจารณาจังหวัดชุมพรเดิมมีพื้นที่เขตทะเลชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเลตลอดแนวชายฝั่งจังหวัดชุมพร

นายณรงค์ กล่าวว่า การพิจารณาดังกล่าวทำให้มีพื้นที่เขตทะเลชายฝั่งเหลือน้อยกว่าเดิม เช่น อำเภอปะทิว อำเภอเมือง เหลือเขตทะเลชายฝั่งเพียง 1.6 ไมล์ทะเล อำเภอสวีเหลือ 2.2 ไมล์ทะเล จึงส่งผลกระทบต่อทรัพยากรชายฝั่ง สัตว์น้ำในวัยอ่อน แนวปะการัง และวิถีชุมชนประมง ท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนที่ช่วยกันฟื้นฟูมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงรับจำนำปู ธนาคารปู กิจกรรมบ้านปลา เป็นต้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เรือประมงพาณิชย์ที่มีเครื่องมือทำการประมงที่ไม่เป็นมิตรต่อทรัพยากรใต้ทะเลและสัตว์น้ำ เช่น เรืออวนลากทุกประเภท เรืออวนปั่นไฟล้อมจับ สามารถทำประมงได้ในเขตใกล้ชายฝั่งเข้ามาอีก ส่งผลถึงการสูญเสียของทรัพยากรชายฝั่งอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังสวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการฟื้นฟูทรัพยากรและสัตว์น้ำในทะเล เพื่อให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น

“ส่วนการแต่งตั้งคณะกรรมการประมงพื้นบ้านประจำจังหวัดของอำเภอปะทิว ก็ไม่มีตัวแทนชาวประมงในพื้นที่เป็นกรรมการ แต่กลับพิจารณาพื้นที่ให้คงเหลือ 1.6 ไมล์ทะเล จากเดิมที่มี 3 ไมล์ทะเล จึงถือว่าไม่เป็นธรรมกับชาวประชายฝั่งอำเภอปะทิว และยังส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อทรัพยากรแหล่งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว วิถีชุมชนอย่างมากด้วย จึงขอพิจารณาทบทวน และชะลอการบังคับใช้มาตรา 34 เขตทะเลและชายฝั่งเอาไว้ก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจนและเป็นธรรมมากกว่านี้” นายณรงค์ กล่าว

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์