วางกระสอบทราย 3.1 แสนใบ แนวจุดฟันหลอริมเจ้าพระยา ป้องน้ำเหนือเข้า กทม.

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า กทม.ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่แบ่งเป็น 2 กรณี 1.กรณีปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาอย่างหนัก เนื่องจากระยะนี้มีหย่อมกดอากาศต่ำ เคลื่อนผ่านพื้นที่ อาจทำให้ฝนตกหนักและมีปริมาณฝนสะสมสูงสุดถึงร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ ในส่วนนี้ กทม.ได้เริ่มจัดทำแผนและการเตรียมรับมือปริมาณฝนตกหนักมาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคมแล้ว อย่างไรก็ตาม กทม.มีความมั่นใจว่าจะสามารถรับมือกับปริมาณฝนที่จะตกหนักในกรุงเทพฯได้ ส่วนปริมาณน้ำเหนือที่กรมชลประทานได้บริหารจัดการและปล่อยน้ำลงมายังแม่น้ำเจ้าพระยานั้น กทม.คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำดังกล่าวน้ำจะไหลมายังพื้นที่กรุงเทพฯตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคมเป็นต้นไป โดยมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 2,000 ลูกบาศ์กเมตรต่อวินาที (ลบ.ม.) ทางกทม.ได้มีแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาความยาว 77 กิโลเมตร (กม.) เพื่อป้องกันน้ำท่วมและเอ่อล้นเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้สามารถรับมือกับปริมาณน้ำได้ไม่เกิน 3,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งนี้ ในส่วนของบริเวณจุดฟันหลอประมาณ 9 กม.นั้น กทม.ก็ได้นำกระสอบทรายทั้งหมด 310,000 ใบอุดรอยต่อช่วงนั้น โดยมีความสูง 2.30 เมตร ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้น้ำล้นเข้ามาในพื้นที่ได้

นายจักกพันธุ์กล่าวอีกว่า สำหรับบ้านเรือนประชาชน 400 กว่าหลังคาเรือน ที่อาศัยอยู่นอกแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา อาจได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำล้นตลิ่ง ซึ่ง 10 สำนักงานเขต ได้แก่ บางซื่อ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย บางกอกน้อย คลองสาน และราษฎร์บูรณะ ได้จัดทำแผนแจ้งเตือนประชาชนแบบวันต่อวัน ถึงปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและความเสี่ยง เพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมล่วงหน้า และได้จัดทำสะพานในบางจุดและวางกระสอบทรายให้เป็นทางเดินเพื่อให้ประชาชนสัญจรได้อย่างสะดวก ตลอดจน กทม.มีความเป็นห่วงประชาชนนอกแนวกันน้ำยังได้ให้สำนักงานเขตแจ้งประชาชนให้ยกสายไฟหรือปลั๊กไฟในครัวเรือนขึ้นที่สูง เพื่อป้องกันอันตรายจากน้ำท่วมด้วย

“กทม.มั่นใจว่าสามารถรับมือปริมาณน้ำเหนือได้ ขณะเดียวกัน หากฝนตกลงมาสมทบ กทม.ก็ได้จัดเตรียมแผนรับมือไว้ทั้งหมด 3 แผน คือ แผนรับมือน้ำเหนือ แผนน้ำขึ้นน้ำลง แผนรับมือน้ำฝน ซึ่ง กทม.ได้คาดการณ์ในเบื้องต้นแล้วว่า หากเทียบกับปี 2554 พื้นที่กรุงเทพฯ ปีนี้จะมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีนั้นแน่นอน และจะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เช่นนั้น” นายจักกพันธุ์กล่าว

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาและกรมชลประทานคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำเหนือไหลเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ 2,160 ลูกบาศ์กเมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที นั้น กทม.คาดว่าแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยาจะรองรับปริมาณน้ำได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังบ้านเรือนประชาชนที่อาศัยนอกเหนือแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 18 ชุมชน รวม 430 ครัวเรือน ในพื้นที่ 10 สำนักงานเขต โดย กทม.ได้เตรียมแนวทางช่วยเหลือประชาชนเรียบร้อยแล้ว สำหรับสถานการณ์น้ำหนุนในเดือนตุลาคม ฐานน้ำจะขึ้นสูงสุดในวันที่ 17 และ 18 ตุลาคมนี้ อยู่ที่ระดับสูงกว่า 1.15 ม.จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณน้ำเหนือแล้ว จะยังอยู่ในเกณฑ์ที่แนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยายังสามารถที่จะรองรับได้ ในส่วนของน้ำฝน สำนักการระบายน้ำ กทม.ได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งระบบระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมไว้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ จากสภาพภูมิอากาศปัจจุบันพบว่า มีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย และมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุม ทำให้ช่วงระหว่างวันที่ 12-14 ตุลาคม พื้นที่กรุงเทพฯจะมีฝนตกต่อเนื่องเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งสำนักการระบายน้ำ กทม.จะได้ประชุมร่วมกับกรมชลประทานเพื่อกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง

 


ที่มา มติชนออนไลน์