สมาคมส่งสินค้าทางน้ำ ติงตอม่อ “สะพานท่าพระจันทร์-ศิริราช” ทำเรือเข้าโค้งยาก หวั่นโศกนาฏกรรม

เมื่อวันที่ 14 ก.ค. เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมนันทอุทยาน กองทัพเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ มีการประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นการทบทวนรูปแบบโครงการจ้างที่ปรึกษาศึกษา สำรวจและออกแบบสะพานคนเดินและทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าพระจันทร์-ศิริราช ผู้ร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร , กรมศิลปากร, สมาคมสถาปนิกสยาม, กองทัพเรือ, สมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ รวมถึงชาวบ้านจาก 38 ชุมชนในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะฝั่งธนบุรี รวมกว่า 100 ราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเริ่มต้นมีการฉายวิดีโอนำเสนอข้อมูลและวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างสะพานดังกล่าวเพื่อเป็นสะพานคนเดิน ทางจักรยาน ทางผู้พิการ และสวนสาธารณะ โดยคำนึงวิถีวัฒนธรรมไทย ส่งเสริมการท่องเที่ยว เสริมภาพลักษณ์ของ กทม. เชื่อว่าสิ่งที่จะได้รับคือการดึงดูดการท่องเที่ยว เพิ่มทางเลือกของการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งสะดวก ปลอดภัย พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และส่งเสริมเครือข่ายทางคนเดินและเส้นทางจักรยาน โดยมีขั้นตอนการดำเนินการเริ่มจากการสำรวจ ออกแบบ ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประชาสัมพันธ์ และการเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม

จากนั้น มีการนำเสนอรูปแบบล่าสุดของสะพานซึ่งมี 2 ชั้น ความสูงระหว่างชั้น 4 เมตร มีลิฟต์ บันไดเลื่อน และรถกอล์ฟให้บริการผู้สูงอายุและผู้ป่วยที่ต้องการเดินทางเข้าสู่ รพ.ศิริราช ใช้งบประมาณ 1,710 ล้านบาท ซึ่งชาวบ้านที่เดินทางเข้าประชุมต่างยกมือเห็นด้วยกับโครงการ และปรบมือแสดงความพอใจ

อย่างไรก็ตาม นายอิสรพน เปรมกมล ผู้จัดการสมาคมผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางน้ำ ได้ลุกขึ้นกล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้ใช้เส้นทางน้ำเจ้าพระยาเป็นประจำ โดยมีเรือลำเลียงสินค้ากว่า 2,000 ลำ และจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต แม้ตนจะเห็นด้วยกับการสร้างสะพานเช่นกัน แต่มีความกังวลใจเรื่องอุบัติเหตุ เนื่องจากรูปแบบสะพานล่าสุดต้องมีตอม่อในลำน้ำซึ่งอาจส่งผลกระทบได้

“ที่ผ่านมาเวลากระแสน้ำแรงๆ เคยฟาดตอม่อสะพานพระปิ่นเกล้าหลายครั้ง รวมถึงบริเวณท่าน้ำศิริราช ในเมื่อจะมีการสร้างสะพานใกล้กัน จึงห่วงว่าอาจมีอุบัติเหตุที่กลายเป็นโศกนาฏกรรม เนื่องจากการบังคับเรือเข้าโค้งยาก ต่างจากรถยนต์ ถ้าเป็นไปได้อยากให้สร้างสะพานที่ไม่ต้องมีตอม่อได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ควรขอความเห็นชอบจากกรมเจ้าท่า เพราะเป็นสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ไม่ใช่ออกแบบเสร็จแล้วค่อยไปขอทีหลัง” นายอิสรพนกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากนั้นได้มีตัวแทนจากกรมศิลปากร 2 ราย แสดงความเห็นในที่ประชุมว่า อยากให้มีการทบทวนเรื่องรูปแบบ เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างอยู่ในบริเวณที่เต็มไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ จึงควรให้ความสำคัญต่อลักษณะการออกแบบอย่างใกล้ชิด รวมถึงมุมมองจากวัดวาอาราม และพระบรมมหาราชวัง ว่าจะดูสวยงามหรือไม่หากมองจากมุมมองดังกล่าว ซึ่งหลายคนมองว่าสวย แต่ถามว่าเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมหรือไม่ เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเปรียบเป็นหัวแหวนของกรุงรัตนโกสินทร์

 

ที่มา มติชนออนไลน์