“สธ.” เร่งพิจารณา ลดวันกักตัวหาเชื้อโควิด ย้ำต้องปลอดภัยกับคนไทย

นักท่องเที่ยว

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เผยให้นักวิชาการติดตามการพิจารณาลดจำนวนวันกักตัวหาเชื้อโควิด-19 ให้น้อยกว่า 14 วัน ย้ำต้องเกิดประโยชน์และปลอดภัยกับคนไทย

วันที่ 30 กันยายน 2563 นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุถึงการพิจารณาลดการกักกันโรคที่น้อยกว่า 14 วันว่า ขณะนี้ทางทีมวิชาการกำลังดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และหากนำมาใช้ก็จะใช้เพื่อประโยชน์ของและปลอดภัยกับคนไทยมากที่สุด หลังมีนักวิชาการเสนอให้เจาะเลือดผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทยและนำผลไปประกอบการพิจารณาลดวันกักกันโรค

ส่วนคำถามที่มักเจอและมีนักวิชาการหลายคนให้ความเห็นว่ากักกันโรค 14 วัน นั้นไม่เพียงพอ นพ.ธนรักษ์ ระบุว่า ที่ผ่านมาหลังพ้นการกักกัน 14 วันแล้ว ยังไม่เคยมีรายงานผู้ติดเชื้อ โดยอาจมีความสับสนว่า หลังจาก 14 วันแล้ว ตรวจพบเชื้อ พร้อมชี้แจงว่า การตรวจพบเชื้อ กับการติดเชื้อ ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการกักตัว 14 วัน สามารถป้องกันได้

“ที่ผ่านมาที่เราเจอคือเคยติดเชื้อมาก่อนและผ่านการกักกันตัวแล้วไปตรวจเจอ ปรากฎว่าเจอเชื้ออีกครั้ง ตรงนี้ไม่ใช่การติดเชื้อใหม่แต่เป็นการตรวจเจอเชื้อใหม่อีกครั้ง โดยเชื้อพวกนี้ไม่สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

จากสถานการณ์ของโลกที่มีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า โอกาสที่เราจะเริ่มพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อและรักษาหายมาซักพักหนึ่งแล้ว เดินทางเข้าประเทศจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น การตรวจเจอว่าผู้เดินทางมีผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก นาทีนี้จะตอบยากว่า โควิด-19 ที่เจอในคอของเขาจะแพร่โรคได้หรือไม่ จึงจะต้องตรวจหาภูมิคุ้มกันเสริมเข้าไปด้วย

“ย้ำว่าการกักกันตัว 14 วัน เพียงพอ และยังไม่เคยมีรายงานว่าเจอผู้ป่วยหลังจาก 14 วันที่กักกันตัวแล้ว สามารถเข้ามาแพร่โรคได้ในประเทศใดๆ เราทำงานตามความรู้ที่มี ซึ่งตอนนี้เรารู้ว่า 14 วันเพียงพอ เราก็จะไม่กังวลว่าเพียงพอหรือไม่ จนกว่าจะมีหลักฐานมาหักล้างว่า 14 วันไม่เพียงพอ” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ข้อมูลข่าวจาก : มติชน