ผลกระทบโควิด-19 ต่อตลาดแรงงานไทย

แรงงาน
ภาพจาก pixabay
ร่วมด้วยช่วยกัน
ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์, นันทนิตย์ ทองศรี
พรชนก เทพขาม, พัชยา เลาสุทแสนสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ท่ามกลางการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปในหลายประเทศทั่วโลก แม้จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศของไทยได้ลดน้อยลงจนเท่ากับศูนย์ แต่การที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกยังไม่กลับมาเป็นปกตินี้ จะยังส่งผลให้ภาคการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์กันไว้ในช่วงก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ยังคงประเมินว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เราล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในระยะต่อไป สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ในวันนี้จึงขอชวนทุกท่านมาทบทวนถึงผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อตลาดแรงงานไทยในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อให้สามารถออกแบบนโยบายหรือมาตรการที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิผลสูงสุดได้

ข้อมูลการสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ว่างงานกว่า 7.5 แสนคน ซึ่งสูงกว่าปีก่อนในช่วงเวลาเดียวกันถึงเกือบเท่าตัว ส่วนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานตามมาตรา 38 ก็เพิ่มสูงขึ้นไปที่ประมาณ 3 แสนคน

ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่อาจรู้สึกถึงความรุนแรงของผลกระทบ และประเมินไว้ก่อนหน้าว่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบหลายล้านคน จึงมีความสงสัยว่าตัวเลขการว่างงานของไทยที่จัดทำบนฐานของการสำรวจอาจครอบคลุมผู้ได้รับผลกระทบน้อยกว่าความเป็นจริง

อย่างไรก็ดี โครงสร้างตลาดแรงงานไทยมีลักษณะที่นายจ้างมักปรับตัวโดยการปรับเปลี่ยนชั่วโมงการทำงาน มากกว่าการเพิ่มหรือลดคนงานแบบฉับพลัน ส่วนหนึ่งอาจมาจากการหาแรงงานที่มีทักษะเหมาะสมกับงานนั้นทำได้ยาก หรืออยู่กันมานานแบบครอบครัว ส่งผลให้ตัวเลขการจ้างงานเปลี่ยนแปลงช้ากว่าสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีนายจ้างจึงพยายามรักษาลูกจ้างไว้โดยลดชั่วโมงการทำงานก่อน เมื่อมีความจำเป็นจึงค่อยเลิกจ้าง

เครื่องชี้หนึ่งที่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน คือ ตัวเลขผู้เสมือนว่างงาน หรือผู้ที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน (รายละเอียดในบทความในกรอบ : การจับชีพจรและวิเคราะห์ตลาดแรงงานไทยในช่วงวิกฤต COVID-19 รายงานนโยบายการเงิน กันยายน 2563) ในไตรมาส 2 มีจำนวนสูงถึง 5.4 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 3.4 ล้านคนจากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งการที่แรงงานกลุ่มนี้ยังมีงานทำแต่มีชั่วโมงทำงานอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนความเปราะบางของตลาดแรงงานไทย ที่แม้หลายธุรกิจพยายามประคับประคองธุรกิจไว้ ไม่เลิกจ้างไปซะทีเดียว แต่ใช้วิธีลดเวลาการทำงาน แรงงานกลุ่มนี้จึงอาจได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงตามชั่วโมงการทำงาน และหากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า จนส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดตัวลงไปในที่สุด กลุ่มคนที่เสมือนว่างงานก็จะเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นผู้ว่างงานได้

ทั้งนี้ รัฐจึงมีมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว โดยมุ่งเน้นการโอนเงินเยียวยาในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ ซึ่งดำเนินการได้ครอบคลุม โดยผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ว่างงานจะได้รับเงินสิทธิประโยชน์ และสำหรับผู้ประกันตนที่ยังมีงานทำแต่ได้รับผลกระทบจะสามารถใช้สิทธิเหตุสุดวิสัยซึ่งมีผู้มาใช้สิทธิกว่า 8 แสนรายในช่วงไตรมาส 2

สำหรับแรงงานนอกระบบประกันสังคมทั้งในและนอกภาคเกษตรต่างก็ได้รับเงินเยียวยาเช่นเดียวกัน ซึ่งแท้จริงแล้วแรงงานไทยยังอยู่ในระบบประกันสังคมเพียง 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด ทำให้เมื่อเกิดเหตุวิกฤต ภาครัฐจึงต้องใช้งบประมาณในการเยียวยาเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการขยายขอบเขตโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคมให้แรงงานเข้าสู่ระบบประกันสังคมจะเป็นวิธีป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะยาว

ในวิกฤตย่อมมีโอกาส แม้จะมีคนไทยที่มีชั่วโมงการทำงานต่ำลง รวมถึงกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ที่ต้องการหางานกว่า 2.6 แสนคนในไตรมาส 2 หากมองว่าคนเหล่านี้จะมีเวลาเหลือมากขึ้น จึงเป็นโอกาสให้สามารถยกระดับทักษะ upskill และปรับทักษะ reskill โดยภาครัฐควรออกแบบนโยบายยกระดับศักยภาพแรงงานควบคู่ไปกับการให้เงินช่วยเหลือ ซึ่งจะไม่เพียงประคับประคองให้แรงงานอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤต แต่จะทำให้แรงงานสามารถปรับตัวเข้ากับทักษะใหม่ ๆ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในยุคปกติใหม่ ผ่านการพิจารณาหลักสูตรให้เหมาะสมกับความต้องการของนายจ้าง และสามารถต่อยอดพื้นฐานทักษะของแรงงาน แล้วจึงจัดสรรสถาบันฝึกอบรมทั้งในห้องเรียนและออนไลน์ ตลอดจนสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งการออกแบบมาตรการเหล่านี้จะต้องอาศัยฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงข้อมูลการศึกษา การทำงาน และการได้รับสวัสดิการจากภาครัฐ

การจำแนกตัวเลขผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อตลาดแรงงานไทย มีนัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเป็นอย่างยิ่ง โดยหลายหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ใช้ข้อมูลเชิงลึกในรายละเอียด เพื่อออกแบบมาตรการการช่วยเหลือที่ทันกาล ครอบคลุม และตรงจุด ทั้งในมิติการคลัง การเงิน และการสร้างงานให้มีความเพียงพอรองรับผู้ได้รับผลกระทบ

โดยสรุปแล้ว ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานประกันสังคม สะท้อนว่าแรงงานได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 มาก โดยโครงสร้างตลาดแรงงานไทยที่ผู้ประกอบการมีความระมัดระวังในการเปลี่ยนแปลงการจ้างงาน อาจทำให้ตัวเลขผู้ว่างงานและผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่ขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานปรับเพิ่มขึ้นไม่มากเท่ากับความรู้สึกของสังคม แต่ตัวเลขเสมือนว่างงานรวมถึงตัวเลข
ผู้ประกันตนที่ยังมีงานทำ แต่ได้รับผลกระทบและใช้สิทธิเหตุสุดวิสัยแสดงให้เห็นผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งข้อมูลจากแบบสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรมีส่วนสำคัญในการเติมเต็มช่องว่างของข้อมูลแรงงานนอกระบบประกันสังคมที่ประเทศยังมีไม่มากนัก

ทั้งนี้ หากเราสามารถบูรณาการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการขึ้นทะเบียนทั้งในช่วงก่อนหน้าและในช่วงวิกฤตนี้ เช่น ข้อมูลบัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อยและข้อมูลเงินช่วยเหลือโครงการเราไม่ทิ้งกัน เป็นต้น จะช่วยให้สำนักงานสถิติแห่งชาติสามารถให้ความสำคัญกับการสำรวจเชิงลึกในส่วนที่ข้อมูลทางการยังไม่ครอบคลุม และจะเปิดโอกาสให้ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสามารถดำเนินการเชิงรุกด้วยการให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด เช่นเดียวกับในหลายประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ผู้ได้รับผลกระทบเป็นฝ่ายขึ้นทะเบียน ซึ่งไม่เพียงทำให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรวดเร็วและประหยัดต้นทุนในการบริหารจัดการ แต่จะเอื้อให้การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมมีความต่อเนื่อง และทำให้ประเทศมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน