ห้ามขายกระท่อมออนไลน์ โรงเรียน-หอพัก โทษโฆษณาปรับสูงสุด 5 แสน

ใบกระท่อม

ห้ามขายกระท่อมออนไลน์ โรงเรียน-หอพัก โทษโฆษณาปรับสูงสุด 5 แสนบาท

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ว่า ตามที่ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่.. พ.ศ. …. เป็นการเพิกถอนพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และยกเลิกบทกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม

ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ควรให้มีกฎหมายควบคุมพืชกระท่อมเป็นการเฉพาะด้วย ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯอยู่ระหว่างการเข้าสู่การพิจารณาวาระรับหลักการของสภาผู้แทนราษฎร

“ดังนั้น เพื่อให้การใช้พืชกระท่อมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ และไม่เปิดช่องให้มีการนำไปใช้ในเยาวชน ครม. จึงอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. …. ตามที่กระยุติธรรมเสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรการควบคุมพืชกระท่อม เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงพืชกระท่อมและป้องกันไม่ให้มีการนำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิด”

น.ส.รัชดากล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญ เช่น 1.กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกพืชกระท่อม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

2.ห้ามขายพืชกระท่อมให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และสตรีมีครรภ์ ห้ามใช้ จ้างวาน หรือยินยอมให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ขายพืชกระท่อม ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ห้ามมิให้ขายพืชกระท่อมในสถานที่บางแห่ง เช่น โรงเรียน หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก หรือขายผ่านอินเตอร์เน็ต หรือเร่หาย ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท 3.ห้ามโฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลาดพืชกระท่อม ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 500,000 บาท

Advertisment

4.ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เสพพืชกระท่อม และห้ามผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เสพพืชกระท่อมแบบ 4 x 100 (ผสมกับยา ยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์) รวมทั้งห้ามมิให้ผู้ใดยุยงส่งเสริมให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือสตรีมีครรภ์เสพพืชกระท่อม ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

5.กำหนดให้กฎหมายฉบับนี้ไม่มีผลบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอาง ที่มีส่วนประกอบของพืชกระท่อม ตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอาง

Advertisment

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ส. www.oncb.go.th จำนวน 2 ครั้ง และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวให้ประชาชนรับทราบเรียบร้อยแล้ว

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ในลำดับต่อไป จะส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งใน 37 ประเทศทั่วโลกที่ควบคุมพืชกระท่อมโดยไม่ใช้กฎหมายยาเสพติดแต่ใช้กฎหมายอื่น เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่น เซอร์เบีย โครเอเชีย ซีเรีย เป็นต้น