กรมอนามัยชูทางเลือก ‘ยาคุมกำเนิดฝังใต้ผิวหนัง’ ป้องกันวัยรุ่นท้องไม่พร้อม

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม นพ.วชิระ เพ็งจันทร์  อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นและปัญหาการคลอดซ้ำในวัยรุ่น ยังเป็นเรื่องที่น่าห่วง การคุมกำเนิดจึงจำเป็นสำหรับวัยเจริญพันธุ์ในระยะที่ไม่พร้อม ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 10 ปีบริบูรณ์ จนถึงก่อน 20 ปีบริบูรณ์ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าว กรมอนามัยได้ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเพื่อให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวร โดยวัยรุ่นอายุตั้งแต่   10 ปี ขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์สามารถขอรับบริการคุมกำเนิดโดยการใช้ยาฝังคุมกำเนิดและห่วงอนามัย ซึ่งเป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง ได้ฟรี ณ สถานบริการที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกแห่งทั่วประเทศ

“ยาคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวร หรือชนิดฝังใต้ผิวหนัง จัดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมาก มากกว่าการกินยาคุมกำเนิด เพราะการกินยาอาจจะหลงลืมได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีวัยรุ่นไทยตั้งครรภ์และคลอดประมาณ 1 แสนกว่ารายต่อปี ในจำนวนนี้พบว่ามีการตั้งครรภ์ซ้ำถึง 16 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก จึงได้รณรงค์และฝังยาคุมกำเนิดให้วัยรุ่นที่ผ่านการตั้งครรภ์มาแล้ว เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ โดย 3 ปีที่ผ่านมารับบริการไปแล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ แต่เป้าหมายอยากให้รับบริการทั้งหมด เพื่อลดอัตรการตั้งครรภ์ซ้ำให้ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ในเร็วๆ นี้” นพ.วชิระ กล่าว และว่า กลุ่มนี้มีฐานข้อมูลอยู่ที่สถานบริการสาธารณสุขอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะทำให้เขายอมรับบริการตรงนี้คือเรื่องของการสื่อสารจากบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำให้วัยรุ่นได้รู้ เข้าใจ และรับบริการ ณ ขณะนั้นเลย ไม่ใช่กลับไปคิดต่อที่บ้านซึ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะไม่กลับเข้ามารับบริการ

อธิบดีฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในเรื่องการแก้ปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม ยังมีกฎหมายที่เรียกว่า พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งจะส่งผลเด็กและเยาวชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ 5 เรื่องที่สำคัญ คือ       1.สถานศึกษาต้องจัดให้มีการสอนเพศวิถีศึกษาอย่างเหมาะสม จัดหาและพัฒนาผู้สอนเพศวิถีศึกษา การให้คำปรึกษา ช่วยเหลือและคุ้มครองวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาต่ออย่างเหมาะสม รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 2.สถานบริการต้องให้ข้อมูลความรู้และจัดบริการอนามัยการเจริญพันธุ์รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 3. สถานประกอบกิจการต้องให้ข้อมูลความรู้และส่งเสริมให้เข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 4.การจัดสวัสดิการสังคมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และ5. ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่น

 

ที่มา  มติชนออนไลน์