เปลี่ยน “หญ้า” เป็น “หลอดน้ำ” รักษ์โลก-สร้างงานเกษตรกร

ด้วยเล็งเห็นถึงปัญหาหลอดพลาสติก ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมมายาวนาน “ศุภากร บุรินทร์ชาติ” จึงลุกขึ้นมาสร้างนวัตกรรม ภายใต้ บริษัท อังกูร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เปลี่ยนพืชตระกูลหญ้า ให้กลายเป็นหลอดน้ำ ใช้แทนพลาสติก การันตีด้วยรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2563 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เพิ่งได้รับมาหมาดๆ

“ศุภากร” เล่าที่มาว่า ตอนนี้ในท้องตลาด มีการขายหลอดกระดาษอยู่แล้ว แต่ยังไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ เพราะซึมน้ำง่าย นอกจากนี้ยังมีหลอดไบโอพลาสติก ซึ่งใช้แทนหลอดพลาสติกได้ดี แต่การย่อยสลายจะต้องใช้วิธีการฝังกลบ หากทิ้งให้ย่อยสลายเองจะกลายเป็นฝุ่นฟุ้งขึ้นไปบนอากาศ หากทิ้งลงน้ำจะเป็นขยะทะเล”

จากตัวเลือกที่มีในท้องตลาด ตนจึงเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติ ที่กลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างปลอดภัย ได้แก่ พืชตระกูลหญ้า ซังข้าว อ้อย หญ้าวงต่างๆ ต้นกระจูด ต้นอ้อ ต้นราโพ ฯลฯ นำมาทำเป็นหลอดกลม และหลอดจิบกาแฟ

“ต้นอ้อ กับต้นราโพ สามารถทำเป็นหลอดประเภทใช้ซ้ำได้ แต่ไม่ควรใช้ซ้ำเกิน 6 เดือน ขณะที่ต้นข้าว กระจูด ทำเป็นหลอดประเภทใช้แล้วทิ้ง นำไปเป็นพืชคลุมดินได้ เป็นปุ๋ยหมัก ลงน้ำยังย่อยสลายได้ และยังเป็นอาหารของสัตว์กินพืช

นอกจากเป็นวัสดุจากธรรมชาติ ยังมีข้อดีตรงที่สามารถเก็บรักษาได้เกิน 1 ปี มีฟังก์ชั่นที่ตอบโจทย์ผู้ใช้คือ แช่ทั้งน้ำร้อนและน้ำเย็นได้นาน 2 วัน ปลอดภัยกับมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม

“ศุภากร” ยังเลือกวัตถุดิบที่มาจากแปลงเกษตรกรอินทรีย์ ปลอดสารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์ ช่วยกระตุ้นรายได้ให้เกษตรกรนอกเหนือจากขายข้าว

“ปกติเกษตรกรขายข้าว 1 ไร่ ได้เงินเฉลี่ย 3,000 บาท ต่อรอบการเก็บเกี่ยว โดยหลังการเก็บเกี่ยว ซังข้าวจะถูกเผาทิ้งเป็นฝุ่น PM2.5 แต่ตอนนี้เกษตรกรนำซังข้าวมาทำหลอด ใน 1 ไร่ มีต้นข้าวประมาณ 80,000 ต้น นำไปทำหลอดได้ประมาณ 60,000 หลอด ได้ 10 สตางค์ต่อ 1 หลอด

เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 5,000 – 6,000 บาท ได้ทั้งรายได้ และลดมลพิษ นอกจากนี้แล้ว เมื่อหมดฤดูการทำนา เรายังส่งเสริมให้เกษตรกรนำวัสดุจากธรรมชาติมาทำเป็นภาชนะอีกด้วย”

บริษัท อังกูร วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ยังช่วยเหลือเกษตรกรในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งพบว่ามีคนตกงานจำนวนมาก เพราะที่จังหวัดนี้ ต้นกระจูด ถือเป็นพืชที่โดดเด่นมากๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วถูกส่งเสริมให้นำมาทำเป็นงานสาน

“งานสานใช้กระจูดต้นเล็ก ต้นใหญ่จึงถูกทิ้งเป็นวัชพืช กลายเป็นเชื้อเพลิงเกิดไฟไหม้ป่าทุกปี เราจึงเข้าไปส่งเสริมให้นำมาทำหลอด ช่วยลดปัญหาเพลิงไหม้ และยังเพิ่มรายได้ได้อีกทาง” ศุภากรเล่า

“นอกจากนี้เรายังมีนวัตกรรมนำพืชธรรมชาติมาทำเป็นหลอด 3 ฟังก์ชั่น คือ หลอดที่มีคุณค่าทางอาหาร มีรส และมีกลิ่น ในไทยมีพืชออร์แกนิกหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น กระเจี๊ยบ ขิง ขมิ้น เหล่านี้ เอามาผ่านกระบวนการให้มันดูดซึมเข้าไปในตัวซังข้าวหรือต้นกระจูด ทำให้เราได้หลอดที่มีสารอาหาร และนำมาอบกับเปปเปอร์มิ้นต์ หรือ มะลิ ทำให้เราได้หลอดที่มีกลิ่น ส่วนให้รสชาติ เช่น รสกาแฟ รสชาเขียว”

ผลิตภัณฑ์หลอดเหล่านี้ เน้นส่งออกไปยังโซนยุโรป เกือบ 95% ส่วนหลอดฟังก์ชั่นขณะนี้กำลังได้รับความนิยมในประเทศญี่ปุ่น

“ผมอยากทำตลาดในไทย ให้ความสำคัญเรื่องมาตรฐาน และความปลอดภัย จึงต้องรอให้ได้ GMP ก่อนซึ่งกำลังเร่งดำเนินการอยู่ ส่วนต่างประเทศขอแค่เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ใช้ได้แล้ว ปัจจุบันสามารถผลิตได้ 300,000 หลอด ต่อวัน ปลายปีนี้เราจะสามารถผลิตได้ 2,300,000 หลอดต่อเดือน” คุณศุภากร เผยถึงอนาคตข้างหน้า

 

ข้อมูล เส้นทางเศรษฐี 

ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์ “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน