ปีนี้คนลอยกระทงน้อยลง ”กทม.” เก็บได้ไม่ถึง 5 แสนใบ

หลังวันลอยกระทง
แฟ้มภาพ

“ผู้ว่าฯ อัศวิน” เผยจัดเก็บกระทงทั่ว กทม.ปี 2563 ยอด 492,537 ใบ ลดลงจากปีที่แล้ว 9,487 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติ 96.4% เขตลาดกระบังทุบสถิติมีปริมาณมากสุด เขตราชเทวีน้อยสุด

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.โดยสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต ได้จัดเก็บกระทงที่ประชาชนนำมาลอยเนื่องในเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2563 เมื่อค่ำคืนวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งได้จัดงานลอยกระทงที่บริเวณใต้สะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี) และคลองโอ่งอ่าง พร้อมทั้งเปิดพื้นที่ให้ประชาชนลอยกระทงบริเวณริมแม่น้ำ คูคลอง บึงน้ำ สวนสาธารณะของกทม.และพื้นที่เอกชนอีกหลายแห่ง

ทั้งนี้ กทม.ได้ระดมเจ้าหน้าที่เก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ลำคลองต่าง ๆ และสวนสาธารณะทั้ง 30 แห่ง ที่เปิดให้ประชาชนลอยกระทงทั่วพื้นที่ กทม. ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นับและคัดแยกกระทงเสร็จสิ้นในเวลา 06.00 น. ของเช้าวันนี้ (1 พ.ย. 63) รวมจัดเก็บกระทงได้จำนวนทั้งสิ้น 492,537 ใบ ส่วนใหญ่ 474,806 ใบ ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่าย คิดเป็น 96.4% และทำจากโฟม จำนวน 17,731 ใบ คิดเป็น 3.6%

สำหรับปี 2563 จัดเก็บกระทงได้ลดลงกว่าปี 2562 จำนวน 9,487 ใบ โดยในปี 2562 จัดเก็บกระทงได้ จำนวน 502,024 ใบ หรือคิดเป็น1.89 % โดยเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายง่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2562 จาก96.3% เมื่อปี 2562 เป็น 96.4%ในปี 2563 ส่วนกระโฟมลดลงจาก 3.7 % เมื่อปี 2562 เป็น 3.6 % ในปี 2563

“พื้นที่เขตที่มีปริมาณกระทงมากที่สุด คือ เขตลาดกระบัง จำนวน 29,957 ใบ น้อยที่สุด คือเขตราชเทวี จำนวน 258 ใบ เขตที่มีจำนวนกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติมากที่สุด คือ เขตลาดกระบัง จำนวน 29,032 ใบ และเขตที่จำนวนกระทงโฟมมากที่สุด คือ เขตลาดกระบัง จำนวน 925 ใบ”

จากข้อมูลดังกล่าวแม้ว่า ปีนี้จำนวนกระทงที่จัดเก็บได้ลดลงกว่าปีที่แล้ว แต่ร้อยละของกระทงที่ประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติก็ไม่ได้ลดลง แสดงว่าประชาชนและผู้จำหน่ายกระทงมีความตระหนักและให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

หลังวันลอยกระทง

สำหรับกระทงที่จัดเก็บได้ กทม.ได้ดำเนินการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง และนับจำนวนเพื่อเก็บสถิติ จากนั้นจะนำกระทงจากวัสดุธรรมชาติและย่อยสลายง่าย ส่งไปยังโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ที่โรงงานขยะหนองแขม ส่วนกระทงโฟมและวัสดุที่ย่อยสลายยากจะถูกนำไปทำลายโดยการฝังกลบเพื่อรอการย่อยสลายต่อไป

การจัดเก็บกระทงในแม่น้ำเจ้าพระยา ได้จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดคอยเก็บกระทงบนผิวน้ำตั้งแต่บริเวณใต้สะพานพระราม 7 ไปจนถึงบริเวณวัดโยธินประดิษฐ์ เขตบางนา ระยะทางประมาณ 34 กม. แบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซน ได้แก่ 1.สะพานพระราม 7 ถึงสะพานพุทธ 2.สะพานพุทธ ถึงสะพานกรุงเทพ และ 3.สะพานกรุงเทพ ถึงสุดเขตบางนา

โดยจัดเจ้าหน้าที่ในการจัดเก็บกระทง จำนวน 203 คน ใช้เรือเก็บขยะพร้อมติดตั้งไฟส่องสว่าง จำนวน 40 ลำ เรือกำจัดขยะและวัชพืชสำหรับบดอัดกระทงให้มีขนาดเล็กลง จำนวน 2 ลำ และรถบรรทุกเทท้าย จำนวน 14 คัน เพื่อลำเลียงกระทงที่จัดเก็บได้ขึ้นที่ปากคลองโอ่งอ่าง เขตพระนคร และท่าคลังสินค้ากระทรวงพาณิชย์ เขตราษฎร์บูรณะ เพื่อทำการคัดแยกกระทง

หลังวันลอยกระทง