สปสช.เร่งจ่ายเงินช่วยเหลือพยาบาล 4แสนบาท หลังทุพพลภาพถาวรจากอุบัติเหตุรถพยาบาล

จากกรณีเหตุการณ์รถพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) แห่งหนึ่งใน จ.อุทัยธานี ประสบอุบัติเหตุรุนแรง ชนท้ายรถบรรทุกที่จอดอยู่ ภายหลังจากนำส่งผู้ป่วย เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2560 เป็นเหตุให้พยาบาลวิชาชีพซึ่งประจำรถพยาบาลได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องส่งเข้ารับการรักษาที่ รพ.สวรรค์ประชารักษ์ ในช่วงระยะวิกฤตรุนแรง และหลังจากนั้นได้ส่งกลับมารักษาต่อที่ รพ.อุทัยธานี จนถึงขณะนี้ยังไม่รู้สึกตัว

นพ.เกษตร อมันตกุล อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุทัยธานี ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข ในพื้นที่เขต 3 นครสวรรค์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องฯ ได้พิจารณาวินิจฉัยคำร้องการขอรับความช่วยเหลือกรณีดังกล่าว โดยการพิจารณายึดตามหลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การรับเงิน การจ่ายเงิน การรักษาเงิน และรายการของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช่จ่ายอื่น ที่ออกตามคำสั่ง ม.44 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 37/2559 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 และข้อบังคับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการฯ พ.ศ. 2556

ทั้งนี้ อนุกรรมการพิจารณาคำร้องฯ ใช้ดุลพินิจแล้วมีความเห็นตรงกันว่ากรณีของพยาบาลที่ประสบอุบัติเหตุในขณะปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ นับเป็นความเสียหายรุนแรงมาก มีภาวะบาดเจ็บสาหัสโดยเฉพาะที่ศรีษะส่งผลต่อสมอง ทั้งอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นยังกระทบต่อครอบครัว โดยผู้บาดเจ็บยังมีลูกสาวอายุ 5 เดือนที่ต้องดูแล ดังนั้นจึงเข้าหลักเกณฑ์ความเสียหายตามข้อบังคับประเภท 1 คือกรณีทุพพลภาพถาวรหรือเสียชีวิต จึงมีความเห็นว่าสมควรช่วยเหลือในอัตราสูงสุดคือ 400,000 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัว โดยอาการล่าสุดผู้ป่วยยังคงอยู่ในภาวะวิกฤตและรักษาตัวใน รพ.อุทัยธานี

นพ.วงษ์สวัสดิ์ ตันวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 3 นครสวรรค์ กล่าวว่า กรณีนี้นับเป็นความเสียหายรุนแรง สปสช.เขต 3 นครสวรรค์ จึงได้เร่งดำเนินการโอนเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือ ตามที่อนุกรรมการพิจารณาคำร้องฯ ได้วินิจฉัยไปยังหน่วยบริการต้นสังกัดโดยเร็ว ซึ่งระบบการช่วยเหลือเบื้องต้นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากคุ้มครองผลกระทบจากการให้บริการดูแลผู้ป่วยแล้ว ยังสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน และเรื่องนี้ทุกฝ่ายต่างเห็นความสำคัญ เพราะแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและระบุว่า การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการฯ เป็นการจ่ายที่ผิดวัตถุประสงค์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 แต่ภายหลัง คสช.ยังมีคำสั่งให้เดินหน้าต่อจนกว่าที่มีการแก้ไขกฎหมายรองรับ

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงมกราคม 2559 มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหาย 4,570 ราย รวมเป็นเงิน 51,086,850 บาท มีทั้ง พยาบาล, ผู้ช่วยเหลือคนไข้, แพทย์, เจ้าพนักงานสาธารณสุข, เภสัชกร และคนงาน ประเภทความเสียหาย เช่น ติดเชื้อวัณโรคจากผู้ป่วย, เข็มตำ, ผู้ป่วยกระทำ, สัมผัสสารคัดหลั่ง, ของมีคมบาด และอุบัติเหตุรถส่งต่อ

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์