กระทรวงแรงงาน ฝึก “Automation Studio” เดินหน้าสู่ไทยแลนด์ 4.0

นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ได้มีการนำระบบควบคุมอัตโนมัติมาใช้ในการควบคุมอุปกรณ์ ในเครื่องจักรที่มีกลไกซับซ้อนและทันสมัย มีการทำงานที่สัมพันธ์กันตลอดเวลา ส่งผลดีลดค่าใช้จ่ายและเวลาการทำงานให้น้อยลง ซึ่งการนำระบบควบคุมอัตโนมัติมาใช้งานนั้น ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการออกแบบระบบ และการจำลองการทำงาน เพื่อลดความผิดพลาดเมื่อนำอุปกรณ์มาใช้งานจริง ขั้นตอนนี้มีความยุ่งยากต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ โดย Automation Studio เป็นโปรแกรมที่ช่วยแก้ปัญหาทั้งในการออกแบบระบบ การจำลองการทำงาน และการจัดเอกสาร สำหรับการออกแบบระบบอัตโนมัติต่างๆ เช่น ระบบนิวแมติกส์ ระบบไฮดรอลิกส์ การควบคุมลำดับขั้นไฟฟ้าและเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ในฐานะหน่วยงานหลักในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานไทยเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงาน ซึ่งสอดคล้อง 8 วาระปฏิรูป กระทรวงแรงงาน “เพิ่มผลิตภาพแรงงานสู่ Thailand 4.0” ภายในการนำของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มองว่าเป็นโอกาสดีที่จะมีถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน Automation Studio ให้แก่วิศวกร ช่างเทคนิค กำลังแรงงาน และต่อยอดด้านนวัตกรรมที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญต่ออุตสาหกรรม 4.0 จึงดำเนินการ “โครงการศึกษารูปแบบการฝึกอบรมการออกแบบระบบควบคุมอัตโนมัติด้วยโปรแกรม Automation Studio”

นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า ตลอดระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชั่วโมง ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในหัวข้อการใช้โปรแกรม Automation Studio ออกแบบการทำงานของวงจรนิวแมติกส์ วงจร PLC และการจำลองการทำงาน เป็นต้น การฝึกจึงเน้นที่กลุ่มเป้าหมายเจ้าหน้าที่ของกพร.และพนักงานของสถานประกอบกิจการในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความรู้พื้นฐานทางด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สาขาเครื่องกล สาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติ ฝึกอบรม 2 รุ่น รวมจำนวน 40 คน เมื่อผ่านการฝึกอบรมบุคคลเหล่านี้จะเป็นวิทยากรต้นแบบในการถ่ายทอดความรู้และทดสอบไปยังหน่วยงานในสังกัดของกพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) และสถานประกอบกิจการ พร้อมจัดทำเป็นหลักสูตรกลางอีกด้วย

“โครงการนี้เป็นอีกหนึ่งโครงการของกพร. ที่มีส่วนในการสนับสนุนการขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้านอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ที่มีความต้องการแรงงานฝีมือเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ได้ยกระดับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 12 แห่ง ให้เป็นสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานเทคโนโลยีชั้นสูง เพื่อพัฒนาแรงงานให้ตรงกับความต้องการของพื้นที่ และสร้างมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพิ่มความมั่นใจให้แก่นักลงทุนพร้อมก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในอนาคตเช่นกัน” อธิบดีกพร. กล่าว

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์