ชาวเกาะลิบงประสานเสียง ‘ไม่มีกลุ่มล่าพะยูน’ รับมีติดเครื่องมือประมงมา แต่กวดขันเข้มขึ้น

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ที่จ.ตรัง กรณีที่แหล่งข่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันเรื่องการล่าพะยูนเพื่อเอาเนื้อและอวัยวะต่างๆไปขาย โดยให้เหตุผลว่าก่อนหน้านี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสืบหาข้อมูลในพื้นที่เกาะลิบง จ.ตรัง และได้ข้อมูลว่ามีการล่าพะยูนจริง ด้วยการเอาซากพะยูนที่ติดเครื่องมือประมงเข้าฝั่งแล้วไม่แจ้งกับใคร จากนั้นแล่เนื้อแยกออกเป็นส่วนๆ กระดูกและเขี้ยวแยกไว้ส่วนหนึ่ง ซื้อขายในกิโลกรัมละ 1หมื่นบาท ส่วนเนื้อขายกันในกิโลกรัมละ 150 บาท จนกลายเป็นข่าวสะเทือนวงการอนุรักษ์เป็นอย่างมาก โดยมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก ประชาชนให้ความสนใจและตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องดังกล่าวเป็นจริงหรือไม่ ทุกฝ่ายๆจะต้องร่วมมือกันทำความจริงให้ปรากฏ โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่เกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านมีการอนุรักษ์พะยูนกันอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรม รวมทั้งการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์พะยูนในพื้นที่

ล่าสุด นายประทีป ขันชัย ประธานกลุ่มอนุรักษ์พะยูนเกาะลิบง ออกมาให้ความเห็นว่า หลายสิบปีที่ผ่านมาชาวบ้านเกาะลิบงมีการอนุรักษ์พะยูนกันอย่างจริงจัง มีการจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ชาวบ้านทุกคนช่วยกันดูแลพะยูน กระทั่งมีการจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์พะยูน โดยทางกลุ่มฯได้ดูแลพะยูนผ่านกิจกรรมหลายรูปแบบ ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือการลาดตระเวนในทะเล ทางกลุ่มฯไม่มีเรือจะนำมาใช้เพื่อการนี้ จึงต้องลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าหมู่เกาะลิบง

“ข่าวที่ออกมาก็ไม่เข้าใจว่าได้ข้อมูลมาจากไหน ที่ผ่านมาชาวบ้านเกาะลิบงเข้าใจดีว่าพะยูนมีความสำคัญต่อทะเลตรังอย่างไร การกินเนื้อพะยูนมีการกินกันนานกว่า 20ปี แต่ปัจจุบันผิดกฎหมาย จึงไม่มีใครกินกัน เท่าที่ทราบจากข้อมูลสำรวจประชากรพะยูนในทะเลตรัง มีอยู่ประมาณ 150 ตัวซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น มีการว่ายเป็นครอบครัวพ่อแม่ลูกบริเวณแหลมจูโหย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง”

นายกอบีน หวังบริสุทธิ์ ประธานสภา อบต.เกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง กล่าวว่า ในอดีตเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมายอมรับว่า ชาวบ้านเคยกินเนื้อพะยูน แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว และไม่มีชาวประมงล่าพะยูนเพื่อมาขายเนื้อ ตนในฐานะผู้นำท้องถิ่นถ้ามีใครมาขายเนื้อพะยูนจะต้องรู้เรื่องดังกล่าว จึงไม่เป็นความจริง แม้กระทั่งขบวนการล่าพะยูนก็ไม่มี และที่มีการบอกว่าเขี้ยวพะยูนเป็นของขลังนั้นเป็นการร่ำลือกันเท่านั้น พะยูนเป็นสัตว์อนุรักษ์ ชาวบ้านเกาะลิบงทุกคนช่วยกันดูแลรักษาและอนุรักษ์ มีความเป็นห่วงเพื่อเป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวเกาะลิบง

ขณะที่นายพิศิษฐ์ ชาญเสนาะ ประธานมูลนิธิหยาดฝนจังหวัดตรัง กล่าวว่า จากประสบการทำงานเรื่องพะยูนในท้องทะเลตรังของตนและชาวบ้านแถบชายฝั่งทะเลตรัง ไม่ว่าจะเป็นอ่าวสิเกาก็ดี เกาะลิบง เกาะมุกด์ เริ่มทำกันมาตั้งแต่ปี 2530 มีข้อมูลมีผู้อาวุโส ผู้รู้เป็นชาวบ้านไม่ว่าจะเป็น แหลมมะขาม หัวหิน อ.สิเกา หรือ เกาะลิบง บ้านเจ้าไหม อ.กันตัง ผู้อาวุโสเหล่านั้นรู้จักพะยูนดี จะใช้ความเป็นพะยูนมาผสมผสานกับวัฒนธรรม อาทิ การละเล่นพื้นบ้าน ลิเกป่า ล็องเง็ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลดีต่อการอนุรักษ์พะยูนในขณะนั้น มาระยะหลังๆผู้อาวุโสเหล่านั้นล้มหายตายจากกันไป แต่ชาวบ้านในพื้นที่ก็พยายามที่จะสืบทอดความรู้ที่ลึกลงไปในวิถีชีวิตมาจนถึงวันนี้

นายวิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ช่วงหลังๆมีเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาเกี่ยวข้องกับพะยูน จึงทำให้มีหลายพวกหลายฝ่ายรวมทั้งนักวิชาการเข้ามาสำรวจพะยูนมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นผลดีที่จะบอกให้คนตรัง คนทั้งประเทศรู้ว่าพะยูนที่มีอยู่มีคุณค่าเป็นผู้อนุรักษ์ทะเลเป็นสัตว์ที่สร้างคุณูปการไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องปกติที่พะยูนอยู่ในทะเลอาศัยแหล่งอาหารที่เป็นหญ้าทะเล ชาวบ้านที่ทำมาหากินในทะเลก็หากุ้ง หอย ปูปลา ที่เป็นหญ้าทะเลเหมือนกัน ดังนั้นชาวบ้านจึงใช้เครื่องมือประมงบางชนิดหากินในบริเวณนั้นด้วย ทำให้พะยูนติดเครื่องมือประมงโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งมีการพูดคุยกันมาก

“มาระยะหลังได้มีการประกาศห้ามเครื่องมือประมงบางชนิดที่ใช้ในการทำลายล้างสัตว์น้ำทางทะเล จังหวัดตรังเองได้ประกาศห้ามเหมือนกัน เช่น เบ็ดราไว อวนปลากระเบน ฯลฯ ประกาศอย่างเข้มข้นว่าห้ามใช้ เป็นมุมมองแสดงให้เห็นถึงบทบาทของชาวบ้าน กลุ่มอนุรักษ์ที่จะเข้ามาตรวจตรามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังพบการตายของพะยูนให้เห็นกันบ่อยขึ้น พี่น้องชาวประมงและคนตรังก็ได้รับทราบกันมาโดยตลอด”

นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการพูดกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะความเชื่อที่ผิดๆเกี่ยวกับพะยูน ไม่ใช่เฉพาะคนตรังเท่านั้น แต่ในหลายจังหวัดก็มีความเข้าใจเหมือนกัน มักจะเชื่อคุณค่าแบบในเชิงลึกลับ พลังพิเศษของพะยูน ที่จังหวัดตรังก็มีอยู่มาก หลายสิบปีก่อนยอมรับว่าชาวประมงมีการกินเนื้อพะยูนกัน แต่พลังจากที่เกิดกระแสอนุรักษ์พะยูน และประกาศเป็นสัตว์สงวนก็ไม่เคยเห็นมีการจับพะยูนมากินแต่อย่างใด แม้แต่ที่มีการบอกว่ามีการล่าพะยูนไปขาย หรือล่าเพื่อเจตนาที่จะใช้ประโยชน์จากพะยูนจริงๆ ยังไม่เคยจับได้คาหนังคาเขา เพียงแต่เล่าลือกันมาเท่านั้น พะยูนที่ตายจะด้วยเหตุใด อาจจะเจ็บป่วยตายหรือถูกเครื่องมือประมงตายลอยอยู่ทะเล เห็นว่าเขี้ยวหายไป แสดงให้เห็นว่าความเชื่อดังกล่าวยังคงมีน้ำหนักอยู่พอสมควร

นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาควิชาการโดยเฉพาะภาครัฐ ได้มีจัดทำโครงการเกี่ยวกับพะยูนไม่ว่าจะเป็นการวิจัยพะยูน วิจัยพะยูนเพื่อการท่องเที่ยว การก่อสร้างอาคารเพื่อชมฝูงพะยูน มีทั้งส่วนของความไม่เข้าใจ ความเห็นที่ไม่ตรงกันหลายประเด็น พี่น้องชาวประมงเองก็ได้มีการโต้แย้งเหมือนกัน และมีการเสนอแนะว่าสิ่งใดที่ควรทำ สิ่งใดที่ทำไปแล้วยังเป็นปัญหา เช่นการติดตั้งอุปกรณ์ระบบติดตามตัวพะยูนในแง่วิชาการมองถึงการใช้ชีวิตของพะยูนในทะเล ซึ่งจริงๆแล้วไม่เหมาะกับวิถีชีวิตของพะยูน จะทำให้พะยูนเกิดอันตรายซึ่งชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์มีการคัดค้าน

“ผมคิดว่าเหล่านี้เป็นความตระหนัก โดยเฉพาะจิตสำนึกในเรื่องของการอนุรักษ์พะยูน ซึ่งเรื่องดังกล่าวขาดการปรึกษาหารือกับชาวบ้าน มีหลายเรื่องที่ชาวบ้านเสนอยากให้ทำแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ทำให้เกิดความห่างเหินกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐบางส่วน ความเสี่ยงอีกเรื่องของพะยูนที่ส่งผลให้จำนวนประชากรพะยูนลดลง เกิดจากความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารของพะยูน ในแถบเกาะลิบงก็ดี อ่าวสิเกาก็ดี เกาะสุกรก็ดี ผมคิดว่าทะเลมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการชะล้าง การกัดเซาะ หญ้าทะเลบางส่วนลดความอุดมสมบูรณ์ลง บางฤดูน้ำจืดมาก ส่งผลให้หญ้าทะเลบางชนิดตาย และจะฟื้นคืนเมื่อเข้าสู่ฤดูกาล จึงสมควรให้การฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งหญ้าทะเล ทั้งการปลูกเพิ่มเติมและการช่วยกันดูแลแหล่งหญ้าทะเลที่มีอยู่ให้อุดมสมบูรณ์ จนถึงขณะนี้จำนวนประชากรพะยูนในท้องทะเลตรังยังคงมีจำนวนเพิ่มหรือลดจากเดิมไม่มาก จึงไม่ควรตกใจ” นายพิศิษฐ์ กล่าว

 

ที่มา  มติชนออนไลน์