“หาดก้นอ่าว” พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า คลื่นซัดซากหอยจ๊อกขาวโพลนเกลื่อนชายหาด

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ชาวประมงหาดก้นอ่าว หมู่ 1 ต.เพ อ.เมืองระยองแจ้งว่า เจอกองซากหอยจ๊อกหรือหอยกระโดดอีกแล้ว คราวนี้กองใหญ่ขาวโพลนถูกคลื่นซัดซากหอยกระจายเกลื่อนชายหาดยาวกว่า 2 กม.บางจุดปนเปื้อนเศษขยะ ไปตรวจสอบกองซากหอยจ๊อก หาดก้นอ่าว พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ต.เพ

ชาวประมง เล่าว่าเมื่อช่วงหัวค่ำวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา น้ำทะเลขึ้นสูงเต็มชายหาดก้นอ่าว พอตกดึกน้ำทะเลเริ่มลง พอรุ่งเช้าวันที่ 18 ตุลาคม เดินออกมาดูบริเวณชายหาดพบกองซากหอยจ๊อกหรือหอยกระโดด ขาวโพลนยาวตลอดแนวชายหาดกว่า 2 กม.ซากหอยบางจุดปนเปื้อนเศษขยะที่มาจากทะเล ไม่ทราบว่าสาเหตุการตายเกิดจากอะไร เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมาก็เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกันแต่ครั้งนั้นมีทั้งซากหอยจ๊อกและหอยแมลงภู่ด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา บริเวณชายหาดแม่รำพึง หมู่ 9 ต.ตะพง อ.เมืองระยอง พบซากหอยจ๊อกถูกคลื่นซัดเกลื่อนหาดแม่รำพึง เช่นเดียวกัน และในวันนี้ ก็มาเกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก ซากหอยจ๊อกถูกคลื่นซัดเกลื่อนหาดก้นอ่าวซ้ำอีก

เจ้าหน้าที่ประมง จ.ระยอง ลงพื้นที่ชายหาดเก็บตัวอย่างน้ำทะเลตรวจพิสูจน์และกล่าวว่าพื้นที่บริเวณหาดก้นอ่าวเป็นแหล่งกำเนิดหอยจ๊อก ซึ่งเป็นสัตว์น้ำวัยอ่อน ทนความต้านทานของคลื่นลมไม่ได้อาจเป็นสาเหตุของการตาย ส่วนการตายของหอยจ๊อกที่หาดแม่รำพึงนั้น เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยฝั่งตะวันออก(ระยอง) ลงพื้นที่ตรวจวัดค่าน้ำทะเล พบว่าค่าออกซิเจนอยู่ที่ 55.9 ปกติ ความเค็ม 27.9 ตามปกติ 32 คาดว่ามีน้ำฝนตกลงมาทำให้ค่าความเค็มต่ำกว่าปกติเล็กน้อย ความเป็นกรด – ด่างอยู่ที่ 85 ปกติ ซึ่งหอยจ๊อกเป็นหอยขนาดเล็ก เมื่อโดนน้ำจืดอาจทำให้ตายได้แต่ยังไม่ฟันธง

ด้านชาวประมง กล่าวว่าไม่เชื่อการตรวจพิสูจน์ของนักวิชาการสาเหตุการตายของหอยจ๊อกแต่อย่างใด เพราะชาวประมงหากินในทะเลมาช้านานแล้ว มีความเชื่อว่าสาเหตุการตายของหอยจ๊อกหรือหอยกระโดด น่าจะมาจากมลพิษในทะเล แต่นักวิชาการกลับมองข้ามเรื่องมลพิษ จึงไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไหร่นัก ถ้าเป็นปลาพะยูนตาย เรื่องใหญ่แน่ชาวประมงกล่าว

 

 

ที่มา มติชนออนไลน์