ปภ.สรุป 15 จังหวัดยังท่วม ดับ 6 ศพ เดือดร้อนกว่า 2 แสนครัวเรือน ประสานเร่งระบายน้ำ

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ฝนตกที่หนักอย่างต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่นและการระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำสำคัญ ส่งผลให้เกิดสถานการณ์อุทกภัย น้ำไหลหลาก และน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ตั้งแต่วันที่ 10 – 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ในพื้นที่ 16 จังหวัด ได้แก่ รวม 59 อำเภอ 373 ตำบล 2,229 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 99,242 ครัวเรือน 250,155 คน มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ปัจจุบันคลี่คลายแล้ว 1 จังหวัด คือ กำแพงเพชร และยังคงมีสถานการณ์ใน 15 จังหวัด แยกเป็น ลุ่มน้ำปิง 1 จังหวัด ได้แก่ ตาก ลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำยม 1 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 5 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ลุ่มน้ำป่าสัก 2 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ และลพบุรี ลุ่มน้ำชี 5 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด และลุ่มน้ำมูล 1 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี

นายชยพลกล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการระบายนํ้าเพิ่มของเขื่อนอุบลรัตน์และน้ำทะเลหนุน ในช่วงวันที่ 13-31 ตุลาคม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังน้ำไหลหลาก ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมลําน้ำ และน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำของแม่น้ำสายต่างๆ ได้แก่ แม่น้ำลาว จังหวัดเชียงราย แม่น้ำยม จังหวัดแพร่ พิษณุโลก สุโขทัย และพิจิตร แม่น้ำปิง จังหวัดเชียงใหม่ ลําพูน ตาก และกําแพงเพชร แม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ แม่น้ำป่าสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ลพบุรี แม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี แม่น้ำท่าจีน จังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม แม่น้ำชี จังหวัดหนองบัวลําภู ชัยภูมิขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ดยโสธร และกาฬสินธุ์ แม่น้ำมูล จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ทั้งนี้ กอปภ.ก. ได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่วิกฤต แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมรับมือและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการและแผนเผชิญเหตุของจังหวัด รวมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงของระบบป้องกันอุทกภัย เช่น แนวคันกั้นน้ำ และความพร้อมระบบการระบายน้ำ พร้อมแจ้งประชาชนในพื้นที่ให้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์

 

ที่มา : มติชนออนไลน์