ลุ้น! ลมหนาวเข้าไทย 24 ต.ค. คาดฝนตกทิ้งทวนอีกสัปดาห์ กรมชลฯเฝ้าระวังฝนใต้ต่อ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการติดตามสภาพอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าช่วง 1–2 จากนี้ยังมีฝนตกเล็กน้อย โดยวันที่ 22 ตุลาคม 2560 ฝนส่วนใหญ่ จะตกบริเวณพื้นที่ภาคกลางตอนบน และภาคเหนือตอนล่าง แต่มีปริมาณไม่สูงมากนักเฉลี่ย 10-30 มิลลิเมตร (มม.) ส่วนวันที่ 23 ตุลาคม ฝนจะมีลักษณะกระจายตัว และมีปริมาณเพียงเล็กน้อยเฉลี่ยเพียง 10 มม.เท่านั้น และวันที่ 24 ตุลาคม คาดว่าจะเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูหนาว ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าหลังจากนี้ การบริหารน้ำในลุ่มเจ้าพระยา จะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ โดยมวลน้ำที่บริเวณลุ่มเจ้าพระยาตอนบน ที่ขณะนี้มีปริมาณมาก น่าจะเริ่มทรงตัวภายใน 1 สัปดาห์ จากนั้น คาดว่ามวลน้ำจะเริ่มลดระดับลง และระบายลงสู่อ่าวไทย จนเข้าสู่ภาวะปกติช่วงวันที่ 20 พฤศจิกายน

อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาณ กรมฯได้ประสานไปยังจังหวัดในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดหาพื้นที่ที่ว่างจากการเพาะปลูก เพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำชั่วคราว หากมีปริมาณฝนตกลงมาเพิ่มเติม รวมทั้ง เตรียมเฝ้าระวังพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน และมีฝนตกชุก เบื้องต้นกรมฯได้ระดมเครื่องสูบน้ำเพื่อเตรียมรับมือในพื้นที่แล้ว

ส่วนสถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิง บริเวณจ.กำแพงเพชร หลังจากที่เกิดฝนตกหนักในพื้นที่อ.เมือง จ.ตาก และอ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำปิง ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่จ.นครสวรรค์ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอีก ล่าสุดวันที่ 20 ตุลาคม ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงที่สถานี P.17 อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ วัดได้ 1,145 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที แนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณสถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 2,919 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 1.25 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำจากจ.นครสวรรค์ เมื่อรวมกับน้ำที่มาจากแม่น้ำสะแกกรัง ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 2,600 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20 เซนติเมตร (ซม.) ส่งผลให้มีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร และชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในเขต อ.เมือง อ.วัดสิงห์ และอ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท รวมไปถึงพื้นที่ลุ่มต่ำริมตลิ่งในเขตอ.เมือง จ.อุทัยธานี และ อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ด้วย กรมชลประทานจึงทำหนังสือแจ้งจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และฝ่ายปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่ง

ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา 2,598 ลบ.ม.ต่อวินาที ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาทรงตัว ส่วนบริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ได้รับน้ำเพิ่มเข้าไปในระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในเกณฑ์สูงสุดตามศักยภาพที่รับได้ ก่อนส่งน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง รวมปริมาณน้ำที่นำเข้าทุ่งไปแล้วกว่า 1,290 ล้านลบ.ม. ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลหลากลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ส่วนเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จนถึงขณะนี้ยังปิดการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน และเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด สำหรับสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าที่กำลังมาถึง

“ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกัน 58,327 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 82% ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 34,801 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 74% สามารถรองรับน้ำได้อีก 13,031 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกัน 19,918 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 80% ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 13,222 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 73% สามารถรองรับปริมาณน้ำได้รวมกันอีกกว่า 4,979 ล้าน ลบ.ม.”นายสมเกียรติ กล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์