อัพเดตแรงงานต่างด้าว จดทะเบียน 8 ประเภท 2.45 ล้านคน

คอลัมน์ ระดมสมอง
กระทรวงแรงงาน

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยอีกครั้ง ล่าสุด ได้กำหนดให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน และต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาโดยผิดกฎหมายเข้าจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้นายจ้าง สถานประกอบการสามารถว่าจ้างแรงงานกลุ่มดังกล่าวเป็นการชั่วคราวโดยให้ระยะเวลา 2 ปี

ขณะที่กระทรวงแรงงานรายงานสถานการณ์แรงงานล่าสุด พบว่ามีจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร จำนวน 2,459,785 คน จำแนกเป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้

1.คนต่างด้าวมาตรา 59 ประเภทตลอดชีพ คือ คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 322 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 จำนวน 241 คน คิดเป็นร้อยละ 0.01

2.คนต่างด้าวมาตรา 59 ประเภททั่วไป คือ คนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองโดยมิใช่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยว หรือผู้เดินทางผ่าน และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จำนวน 110,671 คน คิดเป็นร้อยละ 4.50

3.คนต่างด้าวมาตรา 59 ประเภทพิสูจน์สัญชาติ คือ คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชาที่หลบหนีเข้าเมืองได้รับการผ่อนผันให้ทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและปรับสถานการณ์เข้าเมืองถูกกฎหมายเรียบร้อยแล้ว จำนวน 3,029 คน คิดเป็นร้อยละ 0.12

4.คนต่างด้าวมาตรา 59 ประเภทนำเข้าตาม MOU คือ คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลประเทศต้นทาง จำนวน 992,756 คน คิดเป็นร้อยละ 40.36

5.คนต่างด้าวมาตรา 59 ประเภทนำเข้าตาม Name List คือ แรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี 20 สิงหาคม 2562 (OSS) จำนวน 1,266,011 คน คิดเป็นร้อยละ 51.47

6.คนต่างด้าวมาตรา 59 ประเภทส่งเสริมการลงทุน คือ คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน (พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520) หรือกฎหมายอื่น ได้แก่ พระราชบัญญัตินิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เช่น นักลงทุน ช่างฝีมือ ผู้ชำนาญการ จำนวน 44,522 คน คิดเป็นร้อยละ 1.81

7.คนต่างด้าวมาตรา 63 ประเภทชนกลุ่มน้อย คือ คนต่างด้าวที่ไม่ได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ และกระทรวงมหาดไทยได้ออกเอกสารเพื่อรอพิสูจน์สถานะยื่นขอใบอนุญาตทำงาน จำนวน 42,555 คน คิดเป็นร้อยละ 1.73

8.คนต่างด้าวมาตรา 64 คือ คนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานบริเวณชายแดนในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาลในพื้นที่ความตกลงว่าด้วยการสัญจรข้ามแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศที่ติดกับราชอาณาจักรไทย พบว่าไม่มีต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในประเทศไทยในลักษณะไป-กลับได้ ตามมาตรการ แนวทางปฏิบัติ ประกาศ และคำสั่งป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

อัตราการจ้างแรงงานต่างด้าวต่อจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 6.63 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.52 ขณะที่อัตราการจ้างแรงงานต่างด้าวประเภทมีฝีมือต่อจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 0.42 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.45 ส่วนใหญ่เป็นสัญชาติญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ อินเดีย และอังกฤษ

สำหรับอัตราการจ้างแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา ลาว และกัมพูชา) ต่อจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 6.10 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยะ 7.07 ส่วนอัตราแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคมอยู่ที่ร้อยละ 10.10 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 10.33