สาธารณสุข เผยโรงพยาบาลสนาม มีระบบตามมาตรฐาน ไม่นำเชื้อออกสู่ชุมชน

กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานที่ใช้จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เน้นห่างไกลชุมชน ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งสถาปนิก วิศวกร นักระบาดวิทยา และทางการแพทย์ แยกระบบบำบัดน้ำเสียชัดเจน ป้องกันการติดเชื้อไปสู่ชุมชน เร่งใช้กลไกประชาคม ท้องถิ่น อสม.ทำความเข้าใจชุมชน ถึงเหตุผลการจัดเตรียมรองรับผู้ป่วยจำนวนมาก

14 มกราคม 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวถึงการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด 19 ว่า การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เน้นความปลอดภัย โดยมีหลักเกณฑ์ในการจัดตั้ง ทั้งระบบตัวอาคาร ระบบจัดการน้ำเสีย และระบบระบายอากาศ มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขประจำ รวมทั้งการจัดโซนนิ่งให้ห่างจากชุมชน ช่วยรองรับผู้ติดเชื้อจำนวนมากๆ มาอยู่รวมกัน ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ไม่มีอาการ เพื่อให้โรงพยาบาลปกติมีเตียงในการดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ ในพื้นที่ต่อไปได้

“ขณะนี้จัดตั้งมีโรงพยาบาลสนามแล้ว 8 แห่งใน 5 จังหวัด ทุกแห่งทำตามแนวทางความปลอดภัย ไม่ให้มีการนำเชื้อสู่ภายนอกหรือชุมชน ทั้งนี้ การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจะมีอสม.ช่วยทำความเข้าใจประชาชนถึงเหตุผลความจำเป็นในการจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามไว้รองรับหากมีผู้ป่วยจำนวนมากๆ แต่ถ้าไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นก็ไม่จำเป็นต้องจัดตั้ง จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องนี้”

ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทั้งสถาปนิก วิศวกร รวมทั้งนักระบาดวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ได้หารือและกำหนดแนวทางต้นแบบจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อความปลอดภัยต่อชุมชนและประชาชน โดยการดำเนินการแบ่งออกเป็น 4 หมวด คือ

1. การสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินการโรงพยาบาลสนามโดยมีส่วนร่วม ให้ข้อมูลกับคนในชุมชนผ่านกลไกประชาคม ท้องถิ่น และ อสม. หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ ไม่มีการปกปิดข้อมูล หรือแจ้งเหตุที่คิดว่าไม่ปลอดภัยได้ เพื่อการตรวจสอบ และแก้ไขไม่ให้เกิดการติดเชื้อออกมาสู่ชุมชน

2. อาคาร สถานที่ และสิ่งแวดล้อม จุดสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลสนามมี 5 ลักษณะ คือ พื้นที่ที่โล่งว่างเปล่าห่างไกลชุมชน, โรงยิม หอประชุม สนามกีฬาที่ห่างไกลจากชุมชน, พื้นที่โล่งในโรงพยาบาล, อาคารหอผู้ป่วยที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ และสถานกักกันของรัฐทางเลือกที่เปลี่ยนแปลงเป็นโรงพยาบาลสนาม

3.ด้านกฎหมาย การจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจัดตั้งอย่างถูกต้อง ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่กำหนดสถานที่ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอนุญาตให้จัดตั้งเฉพาะกรณีโรคโควิด 19 เท่านั้น โดยได้รับการยกเว้นจาก พ.ร.บ.สถานพยาบาล และ 4.การรักษาพยาบาล ได้ยึดแนวทางมาตรฐานการรักษาของกรมการแพทย์ เพื่อให้คนป่วยปลอดภัยที่สุด หากเกิดเหตุฉุกเฉินมีระบบส่งต่อ


“เรามีต้นแบบโรงพยาบาลสนาม ที่นำไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ได้ แบ่งเป็นโซนสีเหลืองสำหรับผู้ติดเชื้อส่วนสีเขียวของเจ้าหน้าที่ และโซนสีส้มคือห้องน้ำและขยะติดเชื้อ ซึ่งออกแบบให้มีระบบท่อบำบัดแยกต่างหากไม่ไปเกี่ยวข้องกับกับท่อน้ำเสียของสถานที่นั้นๆ โดยมีการใส่คลอรีนและน้ำยาฆ่าเชื้อเพื่อบำบัด และทดสอบน้ำในละแวกใกล้เคียงว่ามีเชื้อโควิด 19 หรือไม่ นอกจากนี้ ผู้ปฏิบัติงานในโซนผู้ติดเชื้อ เมื่อกลับออกมาต้องอาบน้ำและถอดชุด ป้องกันการติดเชื้อเข้ามาในส่วนปฏิบัติงาน และผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้วก่อนกลับบ้าน ต้องอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อไม่ให้มีเชื้อเปื้อนเสื้อผ้ากลับไปสู่ชุมชน”