สถาบันวัคซีน แจง สยามไบโอไซเอนซ์ มีศักยภาพผลิตวัคซีนที่สุด

Photo by Bryan R. Smith / AFP

ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แจง สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทที่มีศักยภาพใช้เทคโนโลยีผลิตวัคซีนตามคุณสมบัติของแอสตร้าเซเนก้า หลังถูกวิจารณ์แฝงประโยชน์

วันที่ 19 ม.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงด่วนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนที่เป็นประเด็น กรณีที่มีการกล่าวถึงการทำงานของรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ถึงกระบวนการจัดหาวัคซีนล่าช้า อีกทั้งไม่ครอบคลุมประชากรในประเทศ รวมถึงวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด

นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่าการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าใช้ข้อมูลหลายองค์ประกอบ ไม่ใช่เจรจาจัดซื้อเพียงอย่างเดียว ต้องพิจารณาข้อมูลรูปแบบของวัคซีนที่ได้มีการพัฒนาอยู่ ว่าเป็นลักษณะอย่างไร และใช้การได้อย่างไร ไม่ได้พิจารณาตามชื่อของบริษัทหรือตามตัววัคซีนเพียงอย่างเดียว

นายแพทย์นคร เปรมศรี

อย่างกรณี บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ไม่ใช่การจองซื้อโดยทั่วไป แต่เป็นการจองซื้อที่มีข้อตกลงในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้ประเทศไทยด้วย ซึ่งผู้ที่มีศักยภาพ คือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่มีความพร้อมที่สุดในด้านการผลิตในรูปแบบ viral vector ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ไม่ใช่จะไปเลือกบริษัทเอกชนรายใดทำก็ได้ แม้กระทั่งองค์การเภสัชกรรมของกระทรวงสาธารณสุขเองก็ยังไม่มีศักยภาพพอ เพราะเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ต้องมีความพร้อมจริง ๆ เพราะเร่งด่วน

โดยกระบวนการคือ แอสตร้าเซเนก้าเป็นผู้คัดเลือก ซึ่งเกิดจากมีเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างเครือ SCG กับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเครือ SCG ได้เจรจาดึงให้แอสตร้าเซเนก้ามาประเมินสยามไบโอไซเอนซ์ ขณะเดียวกันแอสตร้าเซเนก้าเองก็มีนโยบายขยายฐานกำลังการผลิตไปทั่วโลก และต้องการกำลังการผลิตจำนวนมาก ระดับ 200 ล้านโดสต่อปีขึ้นไป มีหลายประเทศพยายามจะแข่งให้ได้รับคัดเลือก แต่ด้วยความพยายามของทีมประเทศไทยในการเจรจาและแสดงศักยภาพ จึงถูกเลือก

โดยรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณ 595 ล้านบาท และ SCG สนับสนุนอีก 100 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องมือต่าง ๆ ให้มีความสามารถสอดคล้องกับคุณสมบัติของแอสตร้าเซเนก้าที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ ซึ่งเป็นความพยายามที่ไม่ได้เกิดเพียงชั่วข้ามคืน นึกอยากจะทำก็ทำไม่ได้ เราต้องมีพื้นที่ฐานเดิม

ซึ่งเป็นพื้นฐานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ และทรงวางแนวทางว่าบริษัทผลิตยาชีววัตถุต้องลงทุนมหาศาล รายได้หรือผลกำไรในแต่ละปีไม่เพียงพอที่จะคืนทุนในเวลาอันรวดเร็ว มันจึงเป็นการขาดทุนแต่เพื่อกำไรที่ไทยมีศักยภาพการผลิตยาชีววัตถุเองลดการนำเข้าที่ผ่านมา เป็นมูลค่าที่มากกว่าส่วนที่ขาดทุนไปเสียอีก เพราะเราไม่ต้องเสียค่าถ่ายทอดเทคโนโลยีอีก

“แต่เนื่องจากมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าไปสนับสนุนบริษัทที่ขาดทุน จึงขอยืนยันว่าเป็นไปตามหลักปรัชญารัชกาลที่ 9 ซึ่งไทยวางรากฐานแล้ว มีคน มีต้นทุนที่วางไว้ 10 กว่าปี และการที่เข้าถึงวัคซีน 26 ล้านโดส และเจรจาอีก 35 ล้านโดส เป็นการหาวัคซีนให้เพียงพอกับคนไทย”

ทั้งนี้ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ได้เขียนในสัญญาด้วยว่า เมื่อผลิตวัคซีนแล้วได้ตามมาตรฐานตามที่บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า กำหนด จะคืนวัคซีนในจำนวนเท่ากับทุนที่ได้รับจากสถาบันวัคซีนให้กับรัฐบาลไทยด้วย จึงไม่ใช่เป็นการให้เปล่า แต่เป็นการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ได้ เพื่อลดข้อสงสัยต่าง ๆ ในการสนับสนุนเอกชนจึงแสดงเจตจำนงไว้ในสัญญาการรับทุนว่าจะคืนวัคซีนให้กับรัฐบาลไทยด้วย ดังนั้น ข้อกล่าวหาอันเลื่อนลอยและคลาดเคลื่อนควรจะหมดไป และไม่ควรไปโยงกับสถาบันที่เคารพรัก

“ผมอยากจะเรียนผู้ที่วิจารณ์หรือมีข้อมูลไม่ครบ ต้องใช้ความสามารถในการตรวจสอบข้อมูลให้มากกว่านี้ แล้วจะเห็นว่าบางประเทศที่มีการใช้วัคซีนไปก่อนหน้า ก็เริ่มมีรายงานเจ็บป่วยผลข้างเคียงจากการใช้ ถ้ารีบร้อนนำมาใช้จะเกิดความไม่ปลอดภัย จริงที่อาจมีผลข้างเคียง ซึ่งเป็นปกติของวัคซีน

แต่ถ้าเป็นผลข้างเคียงรุนแรงเราต้องพิจารณาความปลอดภัยก่อน ไม่ควรรีบร้อนโดยไม่มีการศึกษาข้อมูล ซึ่งสถาบันวัคซีนแห่งชาติก็พยายามรวบรวมข้อมูลจากผู้ผลิตเพื่อให้รู้ผลชัดเจน เพื่อให้ได้วัคซีนที่มีคุณภาพ และได้จำนวนที่เพียงพอ ขอย้ำอีกครั้งถึงผู้ที่วิจารณ์ว่า ขอให้ใช้ข้อมูลพิจารณาอย่างครบถ้วน ไม่ใช่ใช้ข้อมูลตามที่นึกคิดเอาเอง”