ชำแหละ “แรงงานเถื่อน” ระเบิดลูกใหม่ “พาสปอร์ต-วีซ่า” หมดอายุ

ปัญหาคนงานประมง ขาดแคลน
FILE PHOTO: by NICOLAS ASFOURI/AFP

เอ่ยถึงบริษัทที่ได้รับอนุญาตนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ หรือบริษัทนายหน้านำเข้าแรงงานต่างด้าว ในสายตาของคนทั่วไปชื่อเสียงภาพลักษณ์อาจดูไม่ค่อยดีนัก

แม้ในความเป็นสถานประกอบการ นายจ้างจำนวนมากมีความต้องการ และมีความจำเป็นต้องใช้บริการบริษัทนายหน้าหรือโบรกเกอร์นำเข้าแรงงาน โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก จำเป็นต้องนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านขับเคลื่อนภาคธุรกิจ เศรษฐกิจประเทศ

ขณะเดียวกันมีบริษัทที่ได้รับอนุญาตนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศจำนวนไม่น้อยที่ดำเนินธุรกิจโดยถูกต้องตามกฎหมาย และมีความรับผิดชอบ

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ ซึ่งจุดเริ่มต้นมาจากแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาใน จ.สมุทรสาคร ก่อนแพร่กระจายไปกว่า 60 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้แรงงานเถื่อน แรงงานต่างด้าวที่เข้าประเทศโดยผิดกฎหมายกลายเป็นประเด็นฮอต เป็นเผือกร้อน ส่งผลกระทบเป็นโดมิโนทั้งหน่วยงานภาครัฐ บริษัทนำเข้าแรงงาน และนายจ้าง แม้รัฐบาลจะประกาศนิรโทษกรรมดึงแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าจดทะเบียนอยู่ในระบบ แต่ยังมีอีกหลากหลายเรื่องที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

สุชิน พึ่งประเสริฐ-ไพรัตน์ แสงสีดำ

ล่าสุด นายสุชิน พึ่งประเสริฐ ประธานบริหาร บริษัท กรุ๊ปเซเว่นเซอร์วิส จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว นายไพรัตน์ แสงสีดำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมต ซัพพลาย (ไทยแลนด์) จำกัด เลขาสมาคม พร้อมคณะ สะท้อนปัญหาและแนวทางแก้ไขวิกฤตโควิด และวิกฤตขาดแคลนแรงงานภายในประเทศ

ย้อนปมแรงงานต่างด้าวก่อนโควิด

ถ้าจะให้โฟกัสปัญหาแรงงานต่างด้าว ต้องย้อนถึงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 16 ม.ค. 2561 ที่ผลักดันให้แรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะชาวเมียนมาในประเทศไปทำ MOU ที่ประเทศต้นทางเข้ามา ในระหว่างนั้นแรงงานเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทย วีซ่า/พาสปอร์ต เหลืออยู่ประมาณปีกว่า บางคนเหลือน้อยกว่านี้ คือเหลือ 3 เดือน-1 ปี เลยเปิดให้ทำซีไอ (หนังสือรับรองสัญชาติ) ในประเทศไทย

ปัญหาคือ MOU ให้สิ้นสุดที่วันที่ 31 มี.ค. 2563 ทั้งหมดต้องไปทำมาก่อน 31 มี.ค. แต่ปรากฏว่าประเทศไทยเกิดโควิดก่อน วันที่ 18 เม.ย. 2563 สั่งปิดหน้าด่านชายแดนทั่วประเทศ ทำให้แรงงานกลุ่มนี้ ซึ่งจ่ายเงินไปหมดเรียบร้อยแล้ว รอแค่ข้ามด่าน และกลับมาเป็น MOU แบบถูกกฎหมาย ตกค้างในประเทศนับแสนคน

เมื่อด่านปิดสมาคมขอให้กระทรวงแรงงานช่วยแก้ปัญหา โดยแจ้งว่ามีกลุ่มแรงงานเมียนมาที่จะเข้ามาทำถูกต้อง นายจ้างจ่ายทุกอย่างแล้ว แค่รอข้ามสะพานเข้ามา และเกิดโควิด แทนที่จะกักตัวฝั่งเมียนมา ก็ให้มากักตัวฝั่งไทยได้ไหม จากนั้นให้เจ้าหน้าที่ของทูตพม่ามาตีวีซ่าให้ แต่ไม่สำเร็จ ทุกอย่างติดขัด แรงงานต่างด้าวไม่สามารถเข้ามาได้ จากนั้นมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน ครม.จึงออกมติให้แรงงานที่เคยมีนายจ้างมาขึ้นทะเบียน ครั้งนี้ก็มี 1.เก็บค่าตั๋ว 2 ปี ขึ้นประกันสังคม ใบอนุญาต 2 ปี แต่มีข้อแม้จะต้องเอาใบอนุญาตสีชมพูนี้ไปตีวีซ่า

ติดล็อกพาสปอร์ต-วีซ่าหมดอายุ

ซึ่งการตีวีซ่าครั้งนั้น แรงงานส่วนใหญ่อายุวีซ่าเหลือ 7 เดือนบ้าง 20 เดือนบ้าง ก็ไม่มีปัญหา เพราะไปทำเล่มที่ตลาดทะเลไทย เพื่อมาซัพพอร์ตให้การทำงานครบถึงปี 2565 ช่วงนั้นยังไม่กังวลใจ เพราะสถานการณ์ยังไม่รุนแรงเหมือนปัจจุบัน แต่ปรากฏความต้องการแรงงานก็ยังไม่เพียงพอ

ผ่านมา 1 ปี จากมติวันที่ 20 ส.ค. 2562 มาวันที่ 4 ส.ค. 2563 ก็มีการขึ้นทะเบียนใหม่อีกรอบหนึ่ง ดึงทุกคนมาหมดเลย แต่ในมติ ครม.กำหนดไว้ว่าใครก็ได้ ที่เคยมีเอกสาร เคยมีประวัติ จะผิดเงื่อนไขการอยู่ในประเทศไทยไม่เป็นไร ให้มาขึ้นทะเบียนในครั้งนี้

แต่การขึ้นทะเบียนครั้งนี้เกิดปัญหา เนื่องจากปล่อยอิสระ ใครก็สามารถขึ้นทะเบียนได้ ปัญหาคือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงแรงงาน กับผู้ปฏิบัติคุยกันคนละภาษา

ติดระเบียบกฎหมายบางข้อไม่สามารถคลายล็อกได้ ซึ่งได้นำเสนอต่อกระทรวงแรงงานเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา เกิดปัญหาไม่สามารถมาลงทะเบียนในวันที่ 4 ส.ค. 2563 ได้ เนื่องจากนายจ้างยังไม่แจ้งออก รายชื่อแรงงานต่างด้าวยังติดอยู่ในบัญชี

เมื่อขึ้นทะเบียนไม่ได้ แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ก็กลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เพราะเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการไม่สามารถดำเนินการให้ได้ ปัญหาใหญ่สุดคือกลุ่มวันที่ 20 ส.ค. เพราะผ่านมา 1 ปี หน้าเล่มเขาเหลือ 4 เดือน แต่กฎหมายให้ตีวีซ่าได้แค่อายุเล่มพาสปอร์ต ทั้งที่ต่างด้าวเหล่านี้มีใบอนุญาตทำงานถึงปี 2565

อ่วมจ่ายแล้วจ่ายอีก 3 ปี 5 หมื่น

นี่คือตัวอย่างสะท้อนว่า ต่างด้าวส่วนใหญ่อยากทำให้ถูกต้อง ในเมื่อมีนโยบายให้ทำ MOU ทำไปหมดแล้ว จ่ายเงินไปแล้ว ปรากฏว่าติดโควิด แรงงานบางส่วนกลับประเทศต้นทางไม่ได้ หักเงินเด็กไปแล้ว ขณะที่นายจ้างก็คิดว่าแรงงานต่างด้าวมีใบอนุญาตทำงานถึงปี 2565 แต่หน้าพาสปอร์ตไม่เข้าเกณฑ์ที่กำหนดไม่เป็นไร เดี๋ยวไปทำที่ตลาดทะเลไทย แล้วมาย้ายดวงตรา

แต่ปรากฏว่าตลาดทะเลไทยถูกสั่งปิด ด้วยเงื่อนไขที่ว่า 1 วันทำได้แค่ 80 เล่ม ตามมาตรการป้องกันโควิด ห้ามไม่ให้มีการชุมนุม แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่จึงไม่มีคิวทำ พอมาถึงรอบที่ 31 มี.ค. 2563 ต้องตีวีซ่า แล้วหน้าพาสปอร์ตเหลือ 2 เดือน ทำไม่ได้ แต่จ่ายเงินไปแล้ว จ่ายค่าประกันสังคมไปแล้ว

แล้วเปิดให้ขึ้นทะเบียนใหม่ วันที่ 15 ม.ค. 2564 ที่รัฐบาลนิรโทษกรรม แต่ระหว่างอยู่ 2 เดือนขาดไป กับยอมทิ้ง 2 เดือนแล้วมาต่ออายุพาสปอร์ต วีซ่า โบรกเกอร์เองก็ไม่รู้จะพูดยังไงกับนายจ้าง นายจ้างก็ไม่รู้จะพูดยังไงกับเด็ก MOU เพราะจ่ายเงิน 20,000 บาทไปแล้ว ตรงนั้นก็โดน 7,500 บาท งวดนี้โดนอีกหมื่นกว่าบาท แค่ 3 ปี เสียเงินเกือบ 50,000 บาท จึงควรผ่อนผันวีซ่าให้เท่ากับเวลาทำงานที่ใบอนุญาตหมดอายุปี 2565

โดนบังคับเป็นคนเถื่อน

“ขอย้ำนิดหนึ่ง ปกติเขาควรได้รับวีซ่าอีก 1 ปี แต่เผอิญอายุเล่มเขาหมดก่อน แล้วเขาทำใหม่ก็ไม่ได้เพราะโควิด กลับไปที่บ้านในเมียนมาไม่ได้ ทำที่นี่วันหนึ่งก็ได้ไม่กี่คน พอทำได้น้อย คนที่ไม่ได้ทำก็กลายเป็นคนเถื่อน เสียเงินไปเกือบ ๆ 2 หมื่นบาทมาแล้วรอบหนึ่ง แล้วมารอบนี้เสียอีก 7 พันบาท และอีก 7 พันบาทก็อยู่ได้อีกไม่กี่วัน ต้องมาขึ้นทะเบียนใหม่อีก ที่มีปัญหาลักษณะนี้มีเยอะ หลักล้านคน ตรงนี้ถ้าแก้ได้ คำว่าแรงงานเถื่อนจะน้อยมาก แล้วจะเอกซเรย์คนตรงนี้ได้ด้วย”

กล่าวได้ว่า ต่างด้าวที่ต้องการทำถูกกฎหมายกำลังถูกบังคับให้เป็นคนเถื่อน การขึ้นทะเบียนรอบนี้ อย่าใช้คำว่า ขึ้นทะเบียนคนใหม่ ต้องใช้คำว่า บุคคลที่เสียโอกาส หรือลักษณะคล้าย ๆ กับผิดเงื่อนไขในการขึ้น MOU ในไทยต่อไปมากกว่า ถ้านิรโทษกรรมได้ ภาพคนเถื่อนทั้งหมดจะเห็นเลยว่า กระจุกอยู่ที่ใคร

ดึง รพ.เอกชนตรวจโควิดต่างด้าวเชิงรุก

ส่วนปัญหาใหม่ล่าสุด เมื่อนิรโทษกรรมให้คนกลุ่มนี้ จะเหลือแรงงานเถื่อนไม่เกินแสนคน เพราะกฎหมายบ้านเรามีประกันสังคม ทำไมคุณไม่ให้ประกันสุขภาพพยาบาลเขา 2 ปี ทำไมไม่เข้าระบบสังคมให้ถูกต้อง อย่างการตรวจโควิด-19 ทำไมต้องเจาะจงให้ตรวจผ่านโรงพยาบาลรัฐอย่างเดียว ทำไมไม่ทำเชิงรุก ให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วม เพราะราคาที่เทียบมา โรงพยาบาลเอกชนถูกกว่า

แต่ราคาเท่าไรไม่สำคัญเท่า โรงพยาบาลรัฐตรวจไม่ทัน เราพยายามเสนอว่า ขอตรวจโควิดแรงงานต่างด้าวในโรงพยาบาลเอกชน กระจายความแออัด และเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุข

อย่างใน จ.สมุทรสาคร ถ้าพวกผมรวมตัวกัน ตรวจได้เกิน 70% โดยเอกชน และรัฐไม่ต้องแบกค่าใช้จ่ายเหมือนทุกวันนี้ด้วย แต่ขอให้ใบตรวจนี้ใช้ยืนยันได้ในตอนที่จะขอ work permit ไม่ใช่ตรวจเอกชนแล้ว ต้องไปตรวจโรงพยาบาลรัฐซ้ำอีก

1.3 หมื่นบาท ค่าหัวคิวขนแรงงานเถื่อน

สำหรับคำถามประเด็นการขนการค้าแรงงานเถื่อนข้ามชาติ เบื้องหลังค่าหัวเท่าไร นายกสมาคมการค้าพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการนำเข้าแรงงานต่างด้าวระบุว่า ราว ๆ 13,000 บาทต่อหัว เข้าประเทศไทยตรงไหนได้ก็ไปหมด หลัก ๆ เข้าทาง จ.แม่ฮ่องสอนก่อน แล้วค่อย ๆ ไหลมาเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่มาจากฝั่งเมียนมา ชายแดนกัมพูชาก็มี จริง ๆ มีทุกที่ แต่วันนี้ที่ยังไม่เป็นประเด็นปัญหามากระหว่างลาว กัมพูชา ต่างไปจากเมียนมาที่เหมือนระเบิดเวลาปะทุ