“ไอน์สไตน์” สอนอะไร ?

คอลัมน์ ถามมา-ตอบไป สไตล์คอนซัลต์
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

“อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” ผู้ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นอัจฉริยะของโลก มีความฉลาดปราดเปรื่องมากกว่ามนุษย์ธรรมดาทั่ว ๆ ไป ตอนที่เขาตาย “Thomas Harvey” นักพยาธิวิทยาชื่อดังในสมัยนั้นได้นำสมองของเขามาศึกษา และพบว่าโครงสร้างสมองของไอน์สไตน์แตกต่างจากสมองของคนทั่วไป

ความเป็นอัจฉริยะของไอน์สไตน์ไม่ได้ฉายแววมากนักในสมัยเด็ก ๆ อันที่จริงพ่อแม่ของเขาคิดว่าไอน์สไตน์เป็นเด็กผิดปกติด้วยซ้ำ เพราะเขาไม่พูดจนกระทั่งอายุ 4 ขวบ และมีพัฒนาการในด้านการเรียนรู้ช้ากว่าเด็กคนอื่น ๆ มาก

ความสนใจหลงใหลในวิทยาศาสตร์เริ่มต้นตอนอายุ 5 ขวบ เมื่อคุณพ่อซื้อเข็มทิศให้เป็นของขวัญวันเกิด เด็กชายไอน์สไตน์สามารถใช้เวลาเป็นวัน ๆ นั่งดูเข็มทิศได้แบบไม่เบื่อตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความเป็นอัจฉริยะของเขาก็ค่อย ๆ เริ่มฉายแววขึ้นเรื่อย ๆ

แม้ไอน์สไตน์จะเสียชีวิตไปนานแล้ว (18 เมษายน พ.ศ. 2498) แต่ความคิดของเขาได้สร้างการเปลี่ยนแปลงมากมายมหาศาลให้กับมวลมนุษยชาติ นอกจากสูตรลับเปลี่ยนโลกอย่าง E – MC2 ที่โด่งดังแล้ว คำพูดของเขายังเป็นแรงบันดาลใจ สามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้คนอีกมากมายได้ด้วย

ผมขอยกคำพูด (quote) ของไอน์สไตน์บางอันที่ชอบมาเล่าให้ฟัง

“You don’t have to know everything. You just have to know where to find it” – คุณไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่าง เพียงแค่ต้องรู้ว่าจะหาสิ่งนั้นได้จากที่ไหนก็พอ

ไอน์สไตน์กล่าวคำพูดนี้ไว้เมื่อปี ค.ศ. 1921 (พ.ศ. 2464) ตอนที่เขาถูกถามเกี่ยวกับความเร็วของเสียง เขาตอบว่า “ไม่รู้เพราะไม่มีข้อมูลนี้อยู่ในหัว แต่รู้ว่ามีหนังสือทางวิชาการ (textbook) ที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้อยู่ในห้องสมุด”

ไม่น่าเชื่อว่าไอน์สไตน์พูดสิ่งนี้ไว้เมื่อเกือบ 100 ปีที่แล้ว และทุกวันนี้สิ่งที่เขาพูดกลายมาเป็นแนวทางของการศึกษายุคใหม่ ที่ครูต้องสอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้เอง ไม่ใช่เพียงแค่ให้คำตอบกับสิ่งที่เด็กต้องการรู้เท่านั้น

ในโลกที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปมากอย่างยุคปัจจุบัน อย่าเสียเวลาและเสียสมองไปกับการพยายามจดจำทุก ๆ ข้อมูลที่ผ่านเข้ามาในชีวิต แต่จงสร้างระบบการบริหารจัดการข้อมูลทางดิจิทัล (digital information management system) ที่มีประสิทธิภาพ ใช้เครื่องมือหรือแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ อย่างเช่น notion, evernote, trello หรือ Google drive เป็นต้น มาช่วยจัดการและจัดเก็บข้อมูล จงใช้สมองไปกับการคิดวิเคราะห์และตีความข้อมูล อย่าใช้สมองไปกับการจดจำอีกต่อไป

“Life is like riding a bicycle. To keep your balance, you must keep moving” ชีวิตเหมือนการขี่จักรยาน การจะรักษาสมดุลเอาไว้ คุณต้องไม่หยุดอยู่กับที่

คำพูดนี้พบในจดหมายที่ไอน์สไตน์ส่งถึงลูกชายของเขาเมื่อปี ค.ศ. 1930 มนุษย์ส่วนใหญ่มักถอดใจเมื่อพบเจอกับปัญหาหรืออุปสรรคที่หนักหนาสาหัส เพราะรู้สึกเหนื่อย ท้อแท้ และหมดหวัง

แต่อันที่จริงบางช่วงบางขณะของชีวิต การหยุดนิ่งอยู่กับที่และยอมรับสภาพอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง การตัดสินใจก้าวเดินต่อไปทั้ง ๆ ที่ชีวิตดูเหมือนไม่มีความหวัง อาจทำให้รอดจากความเลวร้ายนั้นได้

“โอปราห์ วินฟรีย์” พิธีกรชื่อดังระดับโลก เคยกล่าวไว้ทำนองเดียวกันว่า ในงานปาร์ตี้เมื่อมีตัวเลือกระหว่างการนั่งดูเฉย ๆ กับออกมาเต้น ฉันหวังว่าคุณจะลุกขึ้นมาเต้น (When you get the choice to sit it out or dance, I hope you dance)

“It is not that I’m so smart. But I stay with the questions much longer” – ไม่ใช่เพราะผมฉลาดกว่าคนอื่น ๆ แต่เป็นเพราะผมอยู่กับคำถามที่ยังค้นหาคำตอบไม่ได้นานกว่าคนอื่นต่างหาก

คนที่ประสบความสำเร็จทุกคน ล้วนมีคุณสมบัติหนึ่งที่เหมือนกัน คือ การไม่ยอมแพ้ (persistence) ความสำเร็จของไอน์สไตน์ไม่ใช่ความบังเอิญ แต่เป็นเพราะเขาไม่ยอมแพ้กับปัญหาและอุปสรรค ยังคงวนเวียนที่จะหาคำตอบให้กับคำถามที่ค้างคาอยู่ในหัวอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ชีวิตของไอน์สไตน์เป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้ นอกจากเขาจะไม่พูดจนกระทั่งอายุ 4 ขวบ และอ่านหนังสือไม่ออกจนกระทั่งอายุ 7 ขวบแล้ว ครูยังเคยแจ้งพ่อแม่ว่าไอน์สไตน์อาจเรียนไม่จบเพราะเป็นเด็กที่มีพัฒนาการทางสมองช้า เข้ากับเพื่อนไม่ได้ และชอบใช้เวลาไปกับการฝันบ้า ๆ บอ ๆ (mentally slow, unsociable, and adrift forever in foolish dreams)

เขาเรียนจบโรงเรียนโพลีเทคนิคตอนอายุ 21 ปี แต่หางานทำไม่ได้เพราะผลการเรียนไม่ดี ต้องรับจ้างทำงานทั่วไปสารพัดเท่าที่จะหาได้ เขาแต่งงานกับภรรยาและมีลูกด้วยกันก่อนที่จะแยกทาง โดยภรรยาหอบลูก ๆ ทั้งหมดไปด้วย ในระหว่างช่วงสงครามโลก

ไอน์สไตน์ต้องหนีหัวซุกหัวซุน เพราะเขาเป็นเยอรมันเชื้อสายยิว ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เส้นทางของเขาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ สิ่งเดียวที่ทำให้ไอน์สไตน์ประสบความสำเร็จคือความอดทนที่จะไม่ยอมแพ้กับปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น

บางทีเราตัดสินคนจากความสำเร็จสุดท้ายที่เห็น โดยไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าที่มาที่ไปกว่าจะสำเร็จได้ยากลำบากเพียงใด