ต่างด้าวตีทะเบียนแสนคน หัวคิว 1.3 หมื่นนายหน้าอู้ฟู่

แรงงาน

แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย 3 สัญชาติขานรับนิรโทษกรรม แห่ขึ้นทะเบียนกว่าแสนราย รมว.แรงงาน “สุชาติ ชมกลิ่น” ชี้รัฐได้ประโยชน์ 3 เด้ง แก้โควิด-วิกฤตขาดแคลนแรงงาน-เพิ่มความเชื่อมั่น เผย 5 จังหวัดมียอดสูงสุด กทม.-สมุทรปราการ-ชลบุรี-เชียงใหม่-ปทุมธานี บริษัทนำเข้าแรงงานจัดโปรโมชั่นดึงลูกค้าคึก ค่าบริการตั้งแต่ 3 พัน-1.3 หมื่นบาท/หัว

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีนโยบายแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย โดยเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ กัมพูชา เมียนมา และลาว ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.-13 ก.พ. 2564 ล่าสุด วันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา ยอดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวทะลุกว่า 1 แสนรายแล้ว ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ, ชลบุรี, เชียงใหม่ และปทุมธานี

ขึ้นทะเบียนแสนคน กทม.แชมป์

ในจำนวนนี้ กทม.มีแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนมากที่สุดกว่า 20,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่อยู่ในกิจการก่อสร้าง ซึ่งกระทรวงแรงงานคาดว่าถึงวันสิ้นสุดการเปิดให้ต่างด้าวจดทะเบียนเป็นแรงงานในระบบ ยอดผู้ขึ้นทะเบียนน่าจะเกินกว่า 500,000 ราย ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้เร็วขึ้นคือ 1) แก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 2) แก้ปัญหาเรื่องแรงงานขาดแคลน และ 3) สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ

“ช่วงโควิด-19 กลับมาระบาดในพื้นที่สมุทรสาคร การตรวจคัดกรองเพื่อคัดแยกแรงงานค่อนข้างยาก เพราะนายจ้างมีแรงงานอยู่หลายประเภท ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย แต่เมื่อประกาศผ่อนปรนทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ โดยเฉพาะนายจ้างรวมกว่า 3 หมื่นรายที่นำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมาขึ้นทะเบียน ทำให้กระทรวงแรงงานมีฐานข้อมูลแรงงานต่างด้าวแม่นยำ นำไปแก้ปัญหามิติอื่น ๆ ได้ด้วย”

แหล่งข่าวจากกรมการจัดหางานเปิดเผยว่า การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 15-22 ม.ค. 2564 สำหรับคนต่างด้าวที่มีนายจ้างมียอดขึ้นทะเบียนรวม118,743 ราย เป็นนายจ้าง 32,727 ราย แยกเป็นแรงงานกัมพูชา 35,296 ราย ลาว 12,854 ราย และเมียนมา 70,593 ราย ส่วนต่างด้าวที่ไม่มีนายจ้างยอดรวม 8,828 ราย แบ่งเป็นแรงงานกัมพูชา 2,909 ราย ลาว 817 ราย และเมียนมา 5,048 ราย ถึงวันสิ้นสุดการรับจดทะเบียน ยอดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีกว่า 500,000 คน จะเก็บค่าธรรมเนียมเข้ารัฐได้ไม่ต่ำกว่า 4,500 ล้านบาท

นายหน้าโขกค่าใช้จ่าย 1.3 หมื่น

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการบริษัทนายหน้านำเข้าแรงงานต่างด้าวเปิดเผยว่า การเปิดให้แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนครั้งนี้ทำให้เห็นภาพการแข่งขันระหว่างบริษัทที่ได้รับอนุญาตนำเข้าแรงงานต่างด้าวรุนแรงขึ้น ในกรณีที่นายจ้างหรือลูกจ้างใช้บริการบริษัทเอกชนเพื่อความสะดวกรวดเร็ว โดยเฉพาะงานด้านเอกสาร สำหรับอัตราค่าดำเนินการอยู่ที่แรงงานต่างด้าวกับบริษัทนายหน้าจะตกลงกัน

พบว่าส่วนใหญ่คิดค่าบริการตั้งแต่ 3,000-13,000 บาทต่อหัว เนื่องจากถือเป็นการทำธุรกิจของภาคเอกชน ไม่มีกฎหมายกำหนดอัตราค่าดำเนินการในการขึ้นทะเบียนแรงงานไว้ ยกเว้นในส่วนค่าธรรมเนียมที่ต้องจัดเก็บเข้ารัฐอยู่ที่ 9,180 บาทต่อราย ส่วนแรงงานต่างด้าวประมงอยู่ที่ 9,380 บาทต่อหัว

ขณะเดียวกันบางบริษัทมีการจัดแคมเปญดึงแรงงานต่างด้าวและนายจ้างใช้บริการ อย่าง บจ.โกลเบิ้ล อีเว้นท์ ให้บริการรับต่อบัตรแรงงานต่างด้าว บัตรชมพู ใบอนุญาตทำงาน การต่อวีซ่า การให้บริการกลุ่มแรงงานต่างด้าว MOU ที่ครบกำหนด 2 ปี หรือ 4 ปี หรือมีการเปลี่ยนแปลงนายจ้าง หรือเปลี่ยนแปลงนายจ้างไม่ได้ กลุ่มที่มีปัญหาบัตรชมพูต่ออายุไม่ทันตามกำหนด

การต่อบัตรแรงงานต่างด้าวในรอบนี้ แรงงานต่างด้าวจะสามารถทำงานในประเทศไทยได้ถึง 31 มี.ค. 2565 จัดโปรโมชั่น ลดค่าบริการ ค่าใช้จ่าย และค่าธรรมเนียมต่อใบอนุญาตทำงาน ต่อวีซ่า สำหรับกลุ่ม MOU ที่ครบกำหนดเวลา ฯลฯ สำหรับแรงงานที่มีประกันสังคม 1-5 คน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 12,900 บาทต่อหัว มีประกันสังคม 6-9 คน ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 12,500 บาทต่อหัว 10 คนขึ้นไป ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 11,900 บาทต่อหัว

ขณะที่บริษัทนายหน้าบางรายคิดค่าบริการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว บัตรชมพู (รอบพิเศษ) รวม 13,200 บาท แต่แบ่งจ่ายได้ 3 งวด โดยคิดดอกเบี้ย รอบแรกชำระวันที่เรียกเก็บเอกสาร 3,000 บาท รอบที่ 2 ชำระก่อนการตรวจสุขภาพ 7,200 บาท รอบที่ 3 ชำระก่อนยื่นขอใบอนุญาตทำงาน 3,000 บาท ประเมินภาพรวมตลาดนำเข้าแรงงานต่างด้าวคาดว่าจะมีเงินสะพัด 5,000-10,000 ล้านบาท
เปิดท็อปเทนนายหน้ายอดฮิต

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจการนำเข้าแรงงานต่างด้าวของบริษัทที่ได้รับอนุญาตนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศไทย 10 อันดับแรกที่มียอดนำเข้าแรงงานต่างด้าวปี 2563 สูงสุด พบว่าอันดับ 1 คือ บริษัท เดอะ เฟิร์ส กูด แมนกรุ๊ป จำกัด นำเข้าแรงงานต่างด้าวสะสมรวม 15,000 คน ข้อมูลย้อนหลังช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2560-2562) แบ่งเป็น ปี 2560 นำเข้า 11,500 คน ปี 2561 นำเข้า 12,800 คน และปี 2562 นำเข้า 13,300 คน

เดอะ เฟิร์ส กูด แมนฯมีทีมกว่า 100 ชีวิต ให้บริการต่ออายุเอกสาร และยังรับบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในโรงงานแทนฝ่ายบุคคลด้วย ปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ในพอร์ตจำนวนมาก เช่น บจ.เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิมเทม (เทสโก้ โลตัส), ดั๊บเบิ้ลเอ, ไทวัสดุ, บุญถาวร และ บจ.อาหารยอดคุณ เป็นต้น มีสำนักงานสาขาครอบคลุมทั้งใน กทม.และอีก 3 สาขาใน จ.ปทุมธานี อยุธยา และชลบุรี รวมถึงสำนักงานในเมียนมา และกัมพูชา การให้บริการครอบคลุม 7 ประเภทอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร, การผลิตทั่วไป, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนยานยนต์และพลาสติก

อันดับ 2 บจ.แอ๊ดวานซ์ เวิร์กเกอร์ นำเข้าต่างด้าว 13,000 คน โดยเปิดดำเนินการมากว่า 10 ปี 3) บจ.อี.เอ็ม.เอส เลเบอร์ นำเข้าแรงงานต่างด้าวรวม 12,300 คน แตกตัวออกมาจาก บจ.แอ๊ดวานซ์ เวิร์กเกอร์ฯ อันดับ 4-10 ยอดนำเข้าแรงงานต่างด้าวไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ได้แก่ อันดับที่ 4) บจ.เอ็นพี.สยาม 5) บจ.เจดีซีเอส จำกัด 6) บจ.ทีเค เลเยอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) 7) บจ.เคไอ เปอรูมาล คอร์ปอเรชั่น 8) บจ.ซีโอเจ พาสแอนด์ เซอร์วิส 9) บจ.คำมะนีไทย และ 10) บจ.เอ็มเออี พาวเวอร์