ดีเจมะตูม เป็น Super Spreader กทม.ยอดติดเชื้อโควิดแตะ 700 ราย

โควิด
PHOTO : PIXABAY

กทม.ยอดติดเชื้อโควิดแตะ 700 ราย ศบค. ชี้เคส “ดีเจ มะตูม” เป็น Super Spreader การระบาดระลอกใหม่

วันที่ 25 ม.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) พบมีผู้ติดเชื้อใหม่ 22 ราย

ติดเชื้อใหม่ 22 ราย

แบ่งได้ 2 กลุ่ม กลุ่มแรก เป็นการติดเชื้อภายในประเทศจากการไปพื้นที่เสี่ยง มีอาชีพเสี่ยง หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ 20 ราย

สำหรับรายละเอียดผู้ติดเชื้อใหม่ประกอบด้วย เป็นเพศชาย 13 ราย อายุ 3-56 ปี และเพศหญิง 7 ราย อายุ 22-69 ปี สัญชาติไทย 16 ราย, เมียนมา 2 ราย, จีน 1 ราย และอินเดีย 1 ราย ไม่มีอาการ 8 ราย และมีอาการไข้ 12 ราย

รักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนใน กทม. 11 ราย, โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน 3 ราย, โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ 3 ราย, โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า 1 ราย, โรงพยาบาลศิริราช 1 ราย และอยู่ระหว่างประสานงาน 1 ราย

และพบจากการคัดกรองเชิงรุกอีก 2 ราย เป็นเพศชายทั้งหมด อายุ 38 ปี และ 40 ปี เป็นแรงงานสัญชาติเมียนมาทั้งหมด พบไม่มีอาการป่วยทั้ง 2 ราย รักษาพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนใน กทม. 2 ราย

รวมสะสมทะลุ 700 ราย

ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม (18 ธ.ค. 2563 – 25 ม.ค. 2564) รวมแล้วอยู่ที่ 700 ราย เลื่อนขึ้นมาอยู่อันดับ 2 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด รองจาก จ.สมุทรสาคร และเบียด จ.ชลบุรี ตกไปอยู่ที่ 3

ชี้ “ดีเจมะตูม” เป็น Super Spreader

ด้านแพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ในส่วนของ กทม. จะเห็นได้ว่าไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อรายแรกที่ไปเที่ยว จ.เชียงใหม่ ในช่วงวันที่ 1-5 ม.ค. 2564 แล้วไปงานเลี้ยงของ นายเตชินท์ พลอยเพชร หรือดีเจมะตูม ที่ กทม. ในวันที่ 9 ม.ค. 2564 ทำให้เกิดการแพร่เชื้อให้บุคคลรอบ ๆ ในงาน ซึ่งล้วนเป็นวัยทำงานแทบจะทั้งหมด ถือได้ว่าเป็น Super Spreader ในการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19

เปิด 5 ปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อ

นอกจากนี้ ผู้ติดเชื้อรายนี้ยังมีรายละเอียดการติดเชื้อที่เชื่อมโยงไปถึงคลัสเตอร์ที่ 2 และ 3 เป็นผู้ป่วยร้านสูทอายุ 40 ปี จนข้ามไปเชื่อมโยงกับกรณี นายกรกช ยอดไชย ผู้ประกาศข่าวช่อง NBT ซึ่งติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ไปงานวันเกิดดังกล่าวแต่อย่างใด

“สาเหตุที่ทำให้เชื้อกระจายไปในวงกว้างขนาดนี้ ก็เพราะเชื้อไวรัสโควิด-19 มีระยะฟักตัวสั้นที่สุด 2 วัน โดยปัจจัยสำคัญมาจาก 1.สัมผัสผู้เสี่ยงสูง โดยอาจจะมีการไอจามรดกัน 2.มีการพูดคุยในระยะใกล้เกิน 5 นาที 3.อยู่ในสถานที่ที่ไม่มีอากาศถ่ายเทเกิน 15 นาที และ 4.ไม่มีการสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ก็ล้วนแต่ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

นอกจากนี้ กทม.ยังพบผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในพื้นที่โรงงานด้วย ขอย้ำเตือนว่า ผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจดูแลบุคลากรในสถานประกอบการด้วย สิ่งสำคัญคือ ลูกจ้างที่ไปทำงานควรป้องกันตัวสูงสุดตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข