สาธารณสุข เปิดแนวปฏิบัติเตรียมพร้อมเปิดเรียน 1 ก.พ.

นักเรียน

กระทรวงสาธารณสุข เปิดแนวปฎิบัติเตรียมพร้อมเปิดเรียน 1 ก.พ.ทุกจังหวัด ยกเว้นสมุทรสาคร

วันที่ 27 ม.ค.2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมเปิดเรียนรองรับการระบาดของโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ ว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด 19 มีผู้ติดเชื้อกลุ่มอายุ 0-18 ปี จำนวน 278 ราย โดยในระลอกแรก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 14 ธันวาคม 2563 มีการติดเชื้อ 207 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ส่วนระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 ถึงปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ 71 ราย เป็นการติดเชื้อภายในประเทศ ส่วนใหญ่ติดจากคนในครอบครัว สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อแต่ยังไม่พบข้อมูลการติดเชื้อจากครูสู่นักเรียน จากการสำรวจผลกระทบหากปิดเรียนเป็นระยะเวลานานจะพบว่าเด็กขาดการเรียนรู้ทั้งในรูปแบบนามธรรมและรูปธรรม ยิ่งจะทำให้พัฒนาการของเด็กช้ามากขึ้น ซึ่งข้อมูลจากยูนิเซฟบอกว่าผลกระทบมีเด็กติดเกมเพิ่มมากขึ้นด้วย อีกทั้งเด็กในเมืองมีการสั่งอาหารที่เป็นฟาสต์ฟู้ดเพิ่มมากขึ้นถึง 60% ฉะนั้นจึงมีโอกาสเสี่ยงเป็นเด็กอ้วน ที่น่าห่วงคือเด็กในชนบท หรือพื้นที่ห่างไกล ไม่ได้รับอาหารกลางวัน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางมีแนวโน้มจะไม่เรียนต่อและหยุดเรียนถาวรด้วย

ในส่วนของผู้ปกครองก็พบว่า ไม่สามารถดูแลบุตรได้เต็มที่ ครอบครัวไม่พร้อมต่อการเรียนออนไลน์ บางพื้นที่เข้าไม่ถึงระบบอินเทอร์เน็ต และมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนครู พบว่า มีความเครียด กดดัน สับสน ต้องปรับตัว วิถีชีวิตใหม่ก็เพิ่มภาระ เพิ่มค่าใช้จ่าย เพราะระบบการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ นพ.สราวุฒิ กล่าวต่อว่า หลังจากมีการประชุมศบค.ชุดเล็ก ก็มีความเห็นพร้อมต้องกันว่าน่าจะมีการเปิดเรียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.2564 โดยสถานศึกษาทั้งภาครัฐ เอกชน ในระบบ นอกระบบ ที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเรียนตามปกติ ยกเว้นจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดอย่างสมุทรสาคร ยังคงปิดการเรียนการสอนอยู่ แต่ระหว่างที่ปิดก็ให้สถานศึกษากำหนดแนวทางการเรียนการสอน ตามแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ เพื่อที่จะไม่ให้เด็กขาดการเรียนรู้ ส่วนกรุงเทพฯ ปริมณฑล ก็เปิดการเรียนการสอนได้ แต่ต้องเป็นไปตามแนวทาง การป้องกันของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยได้เสนอข้อปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาในกรณีที่ต้องเปิดเรียน ต้องเข้มมาตรการต่าง ๆ ได้แก่

1.การเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเรียน เช่น ความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อโรค,การเรียนรู้ ที่เหมาะสมทั้งออนไลน์ ออนไซต์ ออนแฮนด์, การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส, สวัสดิภาพและการคุ้มครอง มีนโยบายดูแลเพื่อให้เด็กไม่ติดเชื้อ และการบริหารทรัพยากร

2.ทำแบบประเมินให้สถานศึกษาประเมินตนเอง ซึ่งอยู่ในแพตฟอร์ม Thai STOP COVID-19 ซึ่งข้อมูลล่าสุดสถาบันการศึกษาหลายแห่งได้ติดต่อกับกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่ามีความพร้อมเปิดเรียนประมาณร้อยละ 90 แล้ว

3.การยกระดับมาตรความปลอดภัย เน้นทั้งมาตรการหลักและมาตรการเสริม คือ การเว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก ลดแออัด สถานศึกษาต้องจัดการไม่ให้เป็นที่แพร่เชื้อง่ายขึ้น นอกจากนี้ก็ต้องมีการเฝ้าระวัง ด้วยการเช็คนักเรียน ครู ผู้ปกครองว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ รวมถึงอาการต่าง ๆ

4.การกำกับติดตามและประเมินผล โดยกลไกลร่วมระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ดูความพร้อมเปิดเรียน เมื่อเปิดแล้วก็ต้องประเมินความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด

อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางการจัดการเรียนการสอนเด็กกลุ่ม G หรือเด็กเปราะบาง หากพักอาศัยอยู่ในไทย ให้อยู่ในระยะยาวไม่ให้เดินทางไป-กลับ ส่วนกลุ่มที่เดินทางไปกลับให้ใช้ระบบออนแฮนด์ (เรียนรู้ผ่านใบงาน) โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือหน่วยงานของต้นสังกัดในพื้นที่ประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่ทหารเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง