กทม.แจงไทม์ไลน์ที่หายไป “กลุ่มดีเจมะตูม” เช็กวงจรปิดโรงแรมจัดปาร์ตี้

โควิด
PHOTO : PIXABAY

กทม.ตั้งโต๊ะแถลงเคสไทม์ไลน์วุ่น แจงสอบสวนโรคยึดใบโนเวลก่อนติดตามทางโทรศัพท์ ชี้เคสนักร้อง 647 ได้ข้อมูลใหม่ตั้งแต่เที่ยง แต่กังขาไทม์ไลน์ช่วง 10-21 ม.ค. ไม่ออกไปไหนจริงหรือไม่ ชี้ไม่เปิดเผยทำได้กรณีส่วนตัว แต่ถ้ามีผู้ติดเชื้อจากการไปพื้นที่ต้องเปิดเผย จับพิรุธกรณีปาร์ตี้ทั้งคนจัดและเจ้าของสถานที่ คนร่วมกิจกรรมเกินกำหนดหรือไม่

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 28 ม.ค. 2564 ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) ชี้แจงกรณีปัญหาการเผยแพร่ไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อที่มีความสับสน และพบการแก้ไขไทม์ไลน์ภายหลังว่า ในกระบวนการจัดทำไทม์ไลน์นั้น จะเริ่มที่โรงพยาบาลที่ผู้ติดเชื้อเข้ารับการตรวจ หลังสงสัยว่าติดเขื้อไวรัสโควิด-19 ก่อน โดยแพทย์และพยาบาลจะเป็นผู้ซักประวัติและสถานที่ที่ผู้ติดเชื้อไปมา โดยแพทย์จะบันทึกลงใน “แบบสอบสวนโรคผู้ป่วย (Novelcorona 2)” หรือใบโนเวลเป็นหลัก

หลังจากนั้นจะส่งใบแบบสอบสวนโรคผู้ป่วยนี้มาที่ กทม. และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อรวบรวมข้อมูลต่อไป เมื่อได้รับใบโนเวลแล้ว กทม.โดยสำนักอนามัยจะติดต่อทางโทรศัพท์เพื่อตรวจสอบข้อมูลว่าตรงกับตามนี้หรือไม่ ถ้าหากผู้ติดเชื้อไม่ต้องการให้ข้อมูล กทม.ก็จำเป็นต้องเขียนลงไปตามนั้น ก่อนที่คณะทำงานที่มีนพ.ชวินทร์ ศิรินาค รองปลัด กทม. เป็นประธานตรวจสอบเงื่อนไขด้านกฎหมายและการแพทย์ แล้วจึงมีการเผยแพร่ไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อ

ยันยึดใบโนเวลก่อน

ส่วนกรณีที่มีความคลาดเคลื่อนของไทม์ไลน์ในบางเคส ขอยืนยันว่าไทม์ไลน์ต่าง ๆ ยึดตามใบโนเวลเป็นหลัก เพราะการที่มีผู้ติดเชื้อบางรายอ้างว่าได้ให้ข้อมูลกับคนอื่นไปแล้วนั้น กทม.ก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า ผู้ติดเชื้อได้ให้ข้อมูลกับใคร ซึ่งสำนักอนามัยจะเป็นผู้สอบสวนทุกครั้ง และได้แจ้งเสมอว่า การเปิดเผยไทม์ไลน์เป็นการใช้เพื่อควบคุมโรคเท่านั้น

จ่อสอบเคส 647 ไทม์ไลน์วันที่ 10-21 ม.ค.

เมื่อถามถึงเคสผู้ติดเชื้อที่ 647 (นักร้อง) และ 658 (ผู้จัดการประชาสัมพันธ์) ซึ่งมีปัญหาในเรื่องของไทม์ไลน์ โฆษก กทม. กล่าวว่า การสอบสวนโรคของทั้ง 2 เคสนี้ ในส่วนของ 647 ก็ยึดใบโนเวลเป็นหลักเช่นกัน แต่การแถลงภายหลังของผู้ติดเชื้อ ซึ่งระบุว่าระหว่างวันที่ 10-21 ม.ค. 2564 ไม่ได้ออกไปไหนเลยนั้น อยู่ระหว่างประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมโรคและตำรวจ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง

เปิดไทม์ไลน์ไม่ได้หวังประจาน

“ส่วนการไม่ให้ข้อมูล ยอมรับว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ เราบอกเสมอว่า การเปิดเผยไทม์ไลน์ไม่ได้ต้องการประจาน แต่ต้องการเปิดเผยเพื่อใช้ควบคุมโรค เพราะเชื้อโควิดไม่เหมือนโรคอื่น การติดเชื้อมีตัวแพร่เชื้อค่อนข้างเยอะ ต้องขอขอบคุณคนที่ให้ข้อมูล”

ยังกังขาไทม์ไลน์ 2 รายเดินหน้าสอบสวนต่อ

ขณะที่การขอสงวนสิทธิ์ไม่นำเสนอไทม์ไลน์ ที่ทำได้คือ เรื่องพื้นที่ส่วนตัวจะไม่ให้ก็ได้ เช่น กรณีมีคนมาหาที่ห้องพักหรือบ้านส่วนตัว แต่ถ้าคนที่มาหาเป็นผู้ติดเชื้อก็ไม่สามารถสงวนสิทธิ์ขอปิดบังข้อมูลได้ แต่หากเป็นการเดินทางไปในพื้นที่สาธารณะไม่สามารถสงวนสิทธิ์ได้

“กระบวนการสอบสวนโรคของ กทม. บางเรื่องต้องใช้เวลาด้านกระบวนการ ไม่ใช่ครั้งเดียวจะรู้หมด ยืนยันว่าถ้าข้อมูลที่ให้เป็นเท็จจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยผู้ที่แจ้งความคือพนักงานควบคุมโรค แต่กรณีไม่ให้ข้อมูล เราก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน ซึ่งใน 4 รายที่มีปัญหามี 2 ราย ที่สงสัยข้อมูล และจะดำเนินการสอบสวนต่อไป”

ส่วนกรณีเคส 658 ยืนยันตามใบโนเวลเขียนว่าไปโรงแรมบันยันทรีจริง แต่เมื่อมีการสอบสวนโรคเมื่อ 18.00 น. กลับบอกว่าไม่ได้ไป แล้วเปลี่ยนเป็นเพื่อนมาหาที่พักในวันที่ 9 ม.ค. 2564 แทน ก็อยู่ระหว่างสอบสวนโรคในวันแรก อยู่ในกระบวนการสอบสวน ซึ่งผู้ติดเชื้อสามารถมาดูเอกสารใบโนเวลได้ ส่วนการเผยแพร่ให้สื่อจะเป็นไทม์ไลน์เฉย ๆ

ขณะที่กระบวนการสอบสวนโรคมีศูนย์อนามัย และ รพ.สอบสวนโรค ซึ่งโรงพยาบาลสังกัด กทม.มีสำนักแพทย์สอบสวนโรค ส่วนสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุดมศึกษาฯ ก็มีแพทย์สอบสวนโรคเช่นกัน

ส่วนกรณีที่กรมควบคุมโรคและสำนักอนามัยร่วมกันสอบสวนจะเป็นกรณีกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากว่ามีการเชื่อมโยงอย่างไร อยู่ระหว่างสรุปว่าเคสโรงแรมบันยันทรีติดจากเคสต้นทางจากจ.เชียงใหม่หรือไม่

ย้ำ 4 ขั้นตอนสอบสวนโรค

“การสอบสวนโรคจะมีอยู่หลายครั้ง ครั้งแรกสอบสวนที่โรงพยาบาลซึ่งผู้ติดเชื้อเข้าไปรักษา ซึ่งก็คือใบโนเวล 2.สอบสวนเพิ่มเติม และ 3.หากเป็นคลัสเตอร์ก็ต้องสอบเพิ่มเติม เพราะหลักการแพทย์ให้เวลาติดเชื้อ 27 วัน ดังนั้น การสอบสวนโรคจึงต้องให้เวลาผู้ติดเชื้อคิดย้อนไปถึงไทม์ไลน์ที่มากกว่า 20 วัน เมื่อสอบสวนเสร็จแล้วก็จะพิจารณาเผยแพร่ไทม์ไลน์ และในขั้นตอนสุดท้ายคือการเผยแพร่ไทม์ไลน์ในที่สุด” โฆษก กทม.ย้ำ

ส่วนเคสที่ 647 กทม.ได้รับข้อมูลก่อนที่เคสนี้จะไปออกรายการในช่วง 21.00 น. โดยได้ข้อมูลนี้หลังเที่ยงวันที่ 27 ม.ค. 2564 ส่วนข้อมูลก่อนหน้านี้ที่ไม่ตรงกัน เพราะ กทม.ยึดตามใบโนเวล ส่วนการสอบสวนของ กทม. จะใช้คน ๆ เดียวในการโทรไปหาเคสติดเชื้อนั้น ๆ โดยจะไม่มีการเปลี่ยนคนสอบสวนข้อมูล

เคส 645 ไม่ได้แจงกับ กทม.

ขณะที่กรณีเคส 645 ออกมาบอกว่า ไม่ได้ให้ข้อมูลกับ กทม. ทาง กทม.ก็ยึดใบโนเวลในการระบุข้อมูลไทม์ไลน์เช่นกัน

เมื่อถามว่าจะต้องปรับการสอบสวนโรคหรือไม่ โฆษก กทม.กล่าวว่า สำหรับกลุ่มก้อนที่มีงานเลี้ยง เข้าใจว่าให้ข้อมูลเป็นอย่างดีแล้ว และกระบวนการสอบสวนทำตามกระบวนการอย่างถูกต้องแล้ว

จ่อสอบเอาผิดเคสปาร์ตี้

ขณะที่การดำเนินคดีกับโรงแรมที่ปล่อยให้จัดปาร์ตี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้พูดไปในประเด็นนี้แล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ 1.การจัดปาร์ตี้ กทม.จะลงไปดูว่าจำนวนคนเกินกว่าที่กำหนดไหม และ 2.ร้านเปิดเกินเวลาไหม ได้ประสานตำรวจขอกล้องวงจรปิดพิสูจน์ข้อมูลและขอให้ตรวจสอบแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า จะต้องปรับคำในการแถลงหรือไม่ เพราะกระทรวงสาธารณสุขจะบอกเลยว่า เคสนี้อยู่ระหว่างสอบสวน โฆษก กทม.บอกว่า ยินดีรับข้อเสนอนี้ แต่ยืนยันว่า การสอบสวนโรคและข้อมูลที่ได้รับมาจากใบโนเวลเป็นหลัก