ยิ่งยืดเยื้อ ยิ่งเจ็บ

คอลัมน์สามัญสำนึกพูดถึงดัชนีความเชื่อมั่น
ภาพโดย Pexels จาก Pixabay
คอลัมน์สามัญสำนึก

พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

ชัดเจนว่าโควิด-19 รอบใหม่น่าจะสาหัสยิ่งกว่ารอบแรก พูดคุยกับหลากหลายวงการ ยืนยันตรงกันว่ากำลังซื้อคนไทยหายไปดื้อ ๆ เทียบกับช่วงปลายปีก่อนที่เริ่มโงหัวขึ้นมา แต่แล้วต้องดำดิ่งเมื่อจำนวนผู้ป่วยอันเนื่องจากโควิด-19 รอบใหม่พุ่งสูงทำสถิติ

เหลือบไปเห็นผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นค้าปลีกไทยประจำเดือนมกราคม 2564 ซึ่งสมาคมผู้ค้าปลีกไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันจัดทำ

เห็นถึงผลสำรวจพอจะเข้าใจได้ไม่ยากว่า กำลังซื้อคนไทยหายไปจริง ๆ เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วประเทศเดือนมกราคม 2564 ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปีก่อน แม้ครั้งนี้ภาครัฐจะคุมเข้มแค่ 28 จังหวัด ไม่ได้ lockdown ทั้งประเทศ

แม้จะขีดวงคุมเข้ม 28 จังหวัดในเชิงความรู้สึก พบว่าความกังวลกระจายไปทุกภูมิภาค ทั้งที่ศูนย์กลางการระบาดอยู่ในภาคกลาง

แยกตามประเภทของร้านค้า ผลสำรวจพบว่ากลุ่มห้างสรรพสินค้าวิตกต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างมาก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นในเดือนมกราคม 2564 ลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 หรือลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง ขณะที่ไฮเปอร์มาร์เก็ตผู้ประกอบการร้านค้าสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตวิตกกังวลในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตมีความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น สูงกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 เดือนข้างหน้า

แตกต่างจากร้านค้าสะดวกซื้อ ซึ่งไม่ได้รับประโยชน์มาตรการของภาครัฐ อาทิ โครงการคนละครึ่ง ที่มีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นไม่มากนัก

อาการหนักกว่าคนอื่น ๆ คือ กลุ่มร้านอาหาร ภัตตาคาร และเครื่องดื่ม ผู้สำรวจระบุว่า ความเชื่อมั่นลดลงอย่างมีนัยชัดเจนและต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 ค่อนข้างมาก เพราะเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อการแพร่ระบาด ถูกจำกัดเวลาให้บริการ รวมทั้งมาตรการเว้นระยะห่าง social distancing

แต่สำหรับกลุ่มร้านค้าวัสดุก่อสร้าง เป็นที่น่าสังเกตว่า สวนทางกับร้านค้าประเภทอื่น ๆ จากความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นไปได้หลายเหตุผล

ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ รวมทั้งการปรับปรุงบ้านเพื่อรองรับการ work from home ซึ่งแทบกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว

ถามถึงการฟื้นตัว ผลสำรวจชี้ว่า จะแตกต่างกันไปตามประเภทของธุรกิจและระยะเวลาในการแพร่ระบาด

ยิ่งระบาดนานเท่าไร การฟื้นตัวจะยิ่งมีความแตกต่างกันมากขึ้นเท่านั้น

ถามถึงผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม บรรดาผู้ประกอบการค้าปลีกชี้ว่าลดลงระหว่าง 10-30%

ในขณะที่ผู้ประกอบการกว่า 80% ประเมินว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงมากว่า 25% เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคมปี 2563

หากเปรียบเทียบยอดขายจากมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เมื่อช่วงสิ้นปี 2563 (วงเงิน 30,000 บาท) เทียบกับ มาตรการช็อปช่วยชาติ (วงเงิน 15,000 บาท) ในปี 2561-2562 ผู้ประกอบการ 55% มียอดขายเท่าเดิม และน้อยกว่าเดิม

ผู้ประกอบการ 43% ตอบว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นไม่ถึง 25% และมีเพียง 2% ที่ยอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 25%

กว่า 90% อยากให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้เข้าร่วมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกัน อาทิ โครงการ “คนละครึ่ง” ซึ่งจำกัดเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย


ถามด้วยว่า หากไม่มีมาตรการเยียวยา และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตรงเป้า ด้วยสภาพคล่องในมือที่มีอยู่จะกัดฟันสู้ได้อีกนานแค่ไหน คำตอบก็คือ 6 เดือน