ปริญญ์-หมอตี๋ เคลียร์ปมร้อน “วัคซีนโควิด-19”

วัคซีน-โควิด-19

ปริญญ์-เศรษฐกิจทันสมัย ปชป. ควง “หมอตี๋” สาธิต รมช.สธ.ระดมหมอ เคลียร์ปมวัคซีนโควิด-19 “หมอตี๋” ชี้ วัคซีนไม่มีสูตรสำเร็จ นพ.ธีระวัฒน์ แนะ ฉีดคนแข็งแรง สร้างสมดุลด้านสาธารณสุข-เศรษฐกิจ นพ.เขตต์ – สถาบันโรคทรวงอก ชี้ เลือกวัคซีนป้องกันการกลายพันธุ์-ดื้อยา หวั่นสิ้นเปลืองงบประมาณ

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย กล่าวว่า ‘วัคซีนโควิด-19’ เป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ เพราะเชื่อมโยงหลายมิติ ทั้งด้านสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสสังคมได้ตั้งคำถามหลายประเด็นเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนของภาครัฐ จึงเป็นโอกาสดีที่เวทีเปิดอกถกทุกประเด็นในครั้งนี้

โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากวงการสาธารณสุขไทยที่เป็นผู้เกี่ยวข้องตัวจริง มาเปิดอกคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ถึงความจริงของวัคซีนที่ประชาชนอาจไม่เคยรู้มาก่อน จากตัวแทนผู้กำหนดนโยบายจากภาครัฐ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีส่วนร่วมและติดตามประเด็นอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการระบาดในประเทศไทย เพื่อตอบข้อซักถามทุกประเด็นที่หลายคนคาใจ ซึ่งตรงตามจุดประสงค์ของการจัดงาน ที่ต้องการเป็นพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่นำเสนอประเด็นสังคมที่น่าสนใจ ตลอดจนมาร่วมพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้อย่างเต็มที่

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงประเด็นการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ว่า ไม่มีสูตรสำเร็จใดที่ถูกต้องทั้งหมด การจัดซื้อวัคซีนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบริษัทที่ผลิตวัคซีนได้ในปัจจุบันมีไม่กี่แห่งในโลก และในช่วงต้นล้วนอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่อยู่ระหว่างการค้นคว้าวิจัย ถือเป็นความยากของรัฐบาลในการที่จะใช้จ่ายงบประมาณที่มีอย่างจำกัดเพื่อนำไปมัดจำเพื่อทำการจอง ซึ่งไม่ว่าผลวิจัยจะสำเร็จหรือไม่ เงินมัดจำที่จ่ายไว้ก็จะไม่ได้คืน

ดังนั้น หากนำเงินจำนวนมากไปจองวัคซีนกับบริษัทใหญ่ จะทำให้มีปัญหาทั้งด้านข้อกฎหมายและกระทบกับงบประมาณ สุดท้ายเลยเลือกแอสตร้าเซนเนก้า ที่ไทยจะร่วมทำวิจัยกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และจะมีวัคซีนซิโนแวค จากประเทศจีน ที่จะทยอยเข้าประเทศไทยปลายเดือนนี้ด้วย

โดยอยากให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใสและรอบคอบที่สุดแล้วโดยคำนึงถึงคนส่วนใหญ่ มีคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องวัคซีนที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการบริหารจัดการเรื่องวัคซีน ไม่ได้มีเพียงประเด็นเรื่องการสั่งซื้อเท่านั้น ยังมีเรื่องของการกำหนดหลักเกณฑ์ในการฉีด การเฝ้าระวังภายหลังการฉีด ศักยภาพและความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์ในการฉีดเพื่อให้ครอบคลุมและเพียงพอต่อความต้องการโดยเร็ว รวมถึงการจัดเก็บและการขนส่งเพื่อรักษาประสิทธิภาพของวัคซีนให้มีความคงที่มากที่สุด

“ปัญหาเรื่องวัคซีนในปัจจุบันเป็นเรื่องของดีมานด์ ที่ยังมีไม่พอในช่วงแรก แม้รัฐบาลได้พยายามบริหารจัดการมาตั้งแต่ในช่วงต้นที่มีการะบาด ต่อข้อซักถามที่ว่าทำไมภาครัฐไม่เปิดโอกาสให้เอกชนนำเข้าวัคซีนชนิดอื่นนั้น จริง ๆ แล้วรัฐบาลไม่ได้ปิดกั้นใคร แต่วันนี้กำลังทำให้ระบบมีความพร้อมอยู่ เพราะการฉีดวัคซีนในช่วงต้น ยังต้องมีการติดตามและประเมินผลอย่างใกล้ชิด จึงจำเป็นต้องให้เอกชนที่สนใจนำเข้ามาอยู่ภายใต้ระบบของ สธ.ก่อน เพื่อใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน”

นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ในหลายประเทศมีหลักการให้วัคซีนที่ต่างกัน บางประเทศเลือกฉีดให้กับผู้มีความเสี่ยงสูงก่อน แต่บางประเทศก็เลือกฉีดให้บุคลากรที่มีผลต่อเศรษฐกิจก่อน ซึ่งสำหรับประเทศไทย ในมุมมองของตนเองหากต้องการสร้างความสมดุลระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจให้ได้ผล ควรฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้ที่แข็งแรงก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เพราะจากสถิติที่ผ่านมา ผู้ที่แพร่เชื้อโดยไม่ตั้งใจส่วนใหญ่เป็นผู้มีร่างกายแข็งแรง ไม่ใช่บุคคลกลุ่มเสี่ยง

นพ.เขตต์ ศรีประทักษ์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานอายุรศาสตร์หัวใจ สถาบันโรคทรวงอก ในฐานะบุคลากรด่านหน้าที่สู้กับโควิด-19 มากว่าหนึ่งปีเต็ม กล่าวทิ้งท้ายว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 จะมาช่วยประเทศได้ในหลายมิติ ดั้งนั้นการจะซื้อวัคซีนอะไร อยากให้รัฐบาลมองไปยังอนาคตข้างหน้าด้วย ควรมีวัคซีนที่สามารถใช้ในกรณีที่เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสหรือสู้กับอาการดื้อยาได้ เพื่อลดปัญหาการสิ้นเปลืองงบประมาณที่ต้องซื้อวัคซีนอยู่เรื่อย ๆ เพราะในอนาคตจะมีเชื้อไวรัสโคโรนาตัวใหม่ ที่อาจตรวจไม่เจอเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญประเทศไทยมีศักยภาพมากพอในการที่จะผลิตวัคซีนเองได้ จึงควรพิจารณาประเด็นนี้ร่วมด้วยเช่นกัน