เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงปัญหาการแยกเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข ว่าต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเงินที่ได้จากรัฐบาลสำหรับงบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) นับเป็นรายหัวประชากรประมาณกว่า 3,100 บาทต่อหัวประชากร ซึ่งมีเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุขรวมอยู่ด้วย แต่เมื่อรวมกันแล้ว ก่อนจะเข้าไปรพ. ก็จะถูกหักเงินก่อน อย่างรพ.จังหวัดที่มีบุคลากรเยอะ และอายุมากก็จะถูกหักเยอะ และงบประมาณที่จะถูกนำไปซื้อเครื่องมือแพทย์ ซื้อยาก็จะถูกหัก จนทำให้เงินที่เข้ารพ.เหลือน้อยลง ตรงนี้ไม่ค่อยเป็นธรรมนัก อย่างบางจังหวัดหักเงินเดือนไปแล้วไม่เหลือเงินดำเนินงานเลย ได้ไม่ถึง 3,100 บาท บางจังหวัดไม่เหลือก็มี ทั้งนี้ วิธีการคิดคำนวณเงินรายหัวนั้น วัตถุประสงค์เมื่อแรกเริ่มโครงการบัตรทองก็เพื่อจัดสรรให้โรงพยาบาล (รพ.) ที่มีจำนวนประชากรมาก แต่บุคลากรทางการแพทย์น้อย โดยหลักคิดหวังว่าจะกระจายบุคลากรทางการแพทย์ให้ทั่วถึง ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการมากขึ้น แต่ปรากฎว่า 15 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาได้ บุคลากรก็ยังไม่เพียงพอ งบก็ไม่เพียงพอ อย่างที่บอกว่าการบริหารจัดการก็ต้องแก้ไขด้วยการบริหารจัดการ ไม่ใช่เอาเงินที่จะต้องให้พี่น้องประชาชนมาเป็นตัวปรับเพื่อกระจายบุคลากร
ผู้สื่อข่าวถามว่า โรงพยาบาลชุมชนบางแห่งให้ข้อมูลว่าหากแยกเงินเดือนจะทำให้ประสบปัญหาไปอีก นพ.โสภณ กล่าวว่า ตอนนี้ก็ประสบปัญหาอยู่ไม่ใช่หรือ ก็ต้องยอมรับหรือไม่ หากมองว่าวิธีนี้ 15 ปีไม่เป็นผลก็ต้องมีการปรับ แต่ไม่ใช่ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะนิ่งเฉย เพราะทางกระทรวงฯ ก็ทำแผนอัตรากำลังว่า เรามีความต้องการอัตรากำลังเท่าไร จากนั้นทำแผนกระจายบุคลากร ที่สำคัญจะเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากกว่าเดิม เพราะจะมีค่าหัวงบบัตรทองในอัตราเท่ากันทั้งหมด แต่แน่นอนว่าแม้จะมีการจ่ายอัตราเท่ากัน ก็ยังต้องมีการปรับเกลี่ยให้รพ.ทั้งประเทศอยู่ได้ แต่ทางกระทรวงฯ ก็ทำแผนเรื่องการใช้จ่ายเงินของแต่ละรพ. ทำทั้งประเทศ คาดว่าปีงบประมาณ 2561 น่าจะใช้ได้ ขณะนี้เราจ่ายเป็นขั้นบันไดดูความจำเป็นของพื้นที่ และมีงบประมาณก้อนหนึ่งให้ท่านผู้ตรวจแต่ละเขตดูว่า หากรพ.เงินยังไม่พออีก ท่านผู้ตรวจฯจะมีเงินงบประมาณเพิ่มเติมลงไป แต่จะมีคณะกรรมการในเขตพื้นที่เป็นผู้ร่วมพิจารณา
“เบื้องต้นจ่ายเงินเป็นขั้นบันไดไปก่อน ยกตัวอย่าง รพ.ดอนพุด จ.สระบุรี มีประชากรน้อยต้องใช้งบทั้งหมด 8 ล้านบาท แต่งบเหมาจ่ายได้ 5 ล้านบาท เราต้องเติมอีก 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่เรากันเอาไว้ในระดับประเทศเพื่อเกลี่ยให้แก่รพ.ที่จำเป็น” นพ.โสภณ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าชมรมแพทย์ชนบทท้าดีเบตเรื่องนี้กับทางกระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ กล่าวว่า ตนทราบแค่ว่าสิ่งที่จะดำเนินการก็เพื่อประชาชน หากทำเพื่อเอาอำนาจกลับมายังกระทรวงฯ อย่างที่บางคนเข้าใจคงทำไม่ได้ ยืนยันว่าสิ่งที่ทำก็เป็นการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนได้รับสิ่งที่ดีที่สุด เชื่อหรือไม่ว่าระบบเก่า บางรพ.ไม่ได้เงิน ทำงานแทบตาย แต่เมื่อคำนวณเงินค่าหัวคูณ 3,100 บาท และหักเงินเดือน ไม่เหลือเงิน บางแห่งต้องเป็นหนี้สปสช. เพราะให้บริการตามจำนวนคนไข้ที่กำหนดไม่ได้ เพราะคนไข้น้อย ลองคิดดูทุกคนก็อยากจะบริหารให้เดินต่อไปได้ แต่ทำไม่ได้ เพราะติดปัญหาหักเงินเดือน บุคลากรสาธารณสุขทำงานด้วยความทุกข์ระดม ตนในฐานะปลัดกระทรวงฯ ก็ต้องบริหารจัดการให้ลงตัวทุกฝ่าย ให้บุคลากรมีความสุข เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน โดยไม่ได้ไปกระทบต่อสิทธิประชาชนเลย และไม่มีการร่วมจ่ายใดๆ ณ จุดบริการเลย จึงอยากฝากถามว่าคนที่มีความรู้ความสามารถ บริหารรพ.ขนาดเล็กได้ดี และหากสนใจอยากมาบริหารรพ.ที่มีปัญหาก็มาเสนอตัวได้ เพราะจะได้ทำเพื่อประเทศชาติ และเป็นตัวอย่างของนักบริหารที่ดี หากคิดว่าตัวเองทำได้
เมื่อถามว่าจะมีการสื่อสารกับกลุ่มที่เห็นต่าง ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของเราด้วยหรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ไม่เป็นไร ตนก็พยายามสื่อสารกับพี่น้องประชาชน เพื่อให้พี่น้องประชาชนเป็นผู้ตัดสิน สำหรับคนที่กังวลนั้นก็ต้องบอกว่า ณ วันนี้ก็ต้องยอมรับว่า 15 ปีที่ผ่านมาแก้ปัญหาไม่ได้ ก็น่าจะมาร่วมกันคิดทำสิ่งดีๆ ดีกว่า หากมีเป้าหมายเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างไรเสียก็คุยกันได้
แหล่งข่าวแวดวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ในแวดวงสาธารณสุข โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคมีการแชร์ข้อมูลในโซเชียลฯ ถึงปัญหาการจัดสรรงบฯของ สปสช. โดยมีการพูดถึงกรณี สปสช.ทวงหนี้ รพ.ในสังกัดกระทรวง เผยแพร่หนังสือของสปสช. ถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี กรณีติดตามรายการบัญชีลูกหนี้ และเจ้าหนี้ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในพื้นที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 4 สระบุรี โดยหน่วยบริการในพื้นที่ อาทิ รพ.สิงห์บุรีมียอดที่ต้องจ่ายให้สปสช.ประมาณ 22 ล้านบาท โดยให้โอนเงินคืนภายในวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา หากพ้นระยะเวลาที่กำหนด สำนักงานจะหักกลบลบหนี้จากเงินพึงได้ทุกประเภทของหน่วยบริการ โดยหลังจากมีการเผยแพร่ดังกล่าว มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า เป็นเพราะการจัดสรรงบที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของโรงพยาบาล อย่างโรงพยาบาลสิงห์บุรี เนื่องจากมีประชากรที่เข้ารับบริการไม่มากเท่าเกณฑ์ที่สปสช.กำหนด ทำให้รพ.ไม่สามารถทำตามเป้า และต้องคืนเงิน แต่เมื่อไม่มีเงินก็ต้องถูกหักไปเรื่อยๆ ส่งผลให้แต่ละปีได้รับเงินน้อยลง บางแห่งติดลบนั่นเอง
ที่มา : มติชนออนไลน์