ผลฉีดวัคซีน “โควิดกทม.” มีอาการรุนแรง 2 ราย เตรียมฉีดอีก 2,568 ราย

บุคลากรทางการแพทย์แพ้วัคซีน 1 ราย
แฟ้มภาพ

วันที่ 8 มี.ค. 2564 พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3/2564

พล.ต.ท.โสภณ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนฯ กทม. มีแนวทางในการให้วัคซีนโดยเน้นวัตถุประสงค์ลดความรุนแรง การสูญเสียชีวิต และปกป้องระบบสุขภาพของกทม. มุ่งให้บุคลากรทางการแพทย์ของกทม.สามารถให้บริการสุขภาพประชาชนได้ด้วยความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

ย้ำดำเนินการฉีดโปร่งใส-เสมอภาค

ทั้งนี้การให้วัคซีนแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายใช้ความเสี่ยงด้านพื้นที่เป็นองค์ประกอบหลักในการพิจารณาการให้วัคซีน โดยในระยะแรกเน้นการให้วัคซีนในพื้นที่ 6 เขตด้านทิศตะวันตกของกทม.ซึ่งเป็นเขตติดต่อและใกล้เคียงจังหวัดสมุทรสาครที่พบการระบาดจำนวนมาก

โดยมีหลักการให้บริการวัคซีน ได้แก่ ความโปร่งใสและความเสมอภาคเท่าเทียมในการแจกจ่ายวัคซีน ทั้งนี้หลังจากการให้วัคซีนในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า และผู้เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 แล้ว

ในส่วนของการจัดลำดับความสำคัญของผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนในลำดับต่อไป จะใช้ปัจจัยความเสี่ยงด้านอายุเป็นองค์ประกอบในการพิจารณา โดยผู้ที่จะได้รับวัคซีนเป็นลำดับแรก คือ ผู้ป่วยที่มีอายุ 59 ปี 10 เดือน และไล่เรียงอายุลงมาเป็นลำดับ

สาเหตุที่กำหนดให้ผู้ที่มีอายุ 59 ปี 10 เดือน ได้รับวัคซีนลำดับแรก เนื่องจากวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำเป็นต้องได้รับวัคซีน 2 เข็ม คณะอนุกรรมการฯ จึงได้เผื่อเวลาสำหรับรับวัคซีนเข้มที่ 2 ที่จะต้องห่างจากเข้มแรกประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพื่อผู้ที่จะรับวัคซีนเข็มที่ 2 จะมีอายุไม่เกินอายุ 60 ปี ซึ่งเป็นการป้องกันความเสี่ยงต่อผู้รับวัคซีนอีกทางหนึ่ง

เผยสาเหตุฉีดล่าช้า

ต่อกรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่ากทม.ให้วัคซีนล่าช้า เนื่องจากในช่วงแรกของการให้วัคซีนแก่กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าทั้งภาครัฐและเอกชน กทม.หรือโรงพยาบาลที่ให้วัคซีน จำเป็นต้องใช้เวลาในการสังเกตอาการของผู้รับวัคซีน ว่าจะมีอาการไม่พึงประสงค์ใดเกิดขึ้นหรือไม่

“ในช่วง 1-2 วันแรกของการให้วัคซีน จึงได้ให้วัคซีนจำนวนไม่มาก ต่อเมื่อมั่นใจว่า การรับวัคซีนมีอาการไม่พึงประสงค์ไม่รุนแรงหรือไม่มากจึงได้เร่งให้วัคซีนแก่กลุ่มเป้าหมาย “

พบมีอาการรุนแรง 2 ราย

ซึ่งผลการให้วัคซีนสัปดาห์แรกในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ฯ ได้ให้วัคซีนรวมประมาณ 3,000 กว่าคนหรือประมาณ 91 % ของจำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด ส่วนที่เหลือประมาณ 9 % ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เนื่องมาจากเหตุผลส่วนบุคคลของผู้รับ อาทิ ความไม่พร้อมของสุขภาพในขณะนั้น หรือความไม่พร้อมของช่วงเวลาในการรับวัคซีน เป็นต้น

“สำหรับอาการไม่พึงประสงค์ของผู้ได้รับวัคซีน ที่ผ่านมา พบว่ามีอาการรุนแรง 2 ราย และอาการไม่รุนแรง 11 ราย คิดเป็น 0.4 % ของผู้ได้รับวัคซีนทั้งหมดซึ่งนับว่าน้อยมากจึงไม่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใด”

เตรียมฉีดอีก 2,568 คน

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกทม.กล่าวว่า สำหรับสัปดาห์ที่ 2 นี้จะเป็นการให้วัคซีนแก่ อาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย อาทิ เจ้าหน้าที่สำนักงานเขต ตำรวจ ทหาร ที่เกี่ยวข้องกับการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 รวมประมาณ 2,568 ราย ใน 6 เขต ใกล้เคียงจังหวัดสมุทรสาคร

ซึ่งจะเร่งให้วัคซีนแก่บุคลากรกลุ่มนี้โดยเร็วที่สุด จากนั้นสัปดาห์ต่อไปจะเป็นการให้วัคซีนและประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ประกอบด้วย 1.โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง 2.โรคหัวใจและหลอดเลือด 3.โรคหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งทุกชนิด ที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัดและภูมิคุ้มกันบำบัด 6.โรคเบาหวาน 7.โรคอ้วน เรียงลำดับความสำคัญตามอายุ ตั้งแต่ 59 ปี 10 เดือนลงมา

เปิดลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านแอป ”หมอพร้อม”

อย่างไรก็ตามเมื่อกทม.ได้รับวัคซีน AstraZeneca จะจัดลำดับความสำคัญของผู้รับวัคซีนซึ่งเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และมีอายุ 59 ปี 10 เดือน – อายุ 60 ปี ในพื้นที่ 6 เขตดังกล่าวข้างต้น เป็นกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีน จากนั้นจะพิจารณาความสำคัญของผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ที่มีอายุมากที่สุดไล่เรียงลงมาช่วงละ 5 ปี เป็นลำดับ แล้วจึงพิจารณาผู้ที่ไม่ใช่ผู้ป่วยเรื้อรังและมีอายุมากที่สุดไล่เรียงลงมาเป็นลำดับต่อๆ ไป

ซึ่งประชาชนที่ประสงค์จะรับวัคซีนขอให้ลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน Line Official “หมอพร้อม” จากนั้นจะมีการพิจารณาผู้มีความเสี่ยงสูงเข้ารับวัคซีนก่อน โดย กทม.หรือโรงพยายาบาลต่างๆ จะติดต่อกลับไปยังท่านให้เข้ารับวัคซีนตามที่กำหนด

สำหรับการลงทะเบียนใน Line Official “หมอพร้อม” กระทรวงสาธารณสุขจะแถลงข่าวและเป็นผู้ให้ข้อมูลรายละเอียดในเร็ววันนี้ อย่างไรก็ดีหากประชาชนท่านใดไม่สะดวกที่จะลงทะเบียนหรือตรวจสอบสิทธิผ่าน Line Official “หมอพร้อม” สามารถติดต่อหรือตรวจสอบสิทธิได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน

สำหรับผู้ที่ไม่สามารถตรวจสอบสิทธิผ่าน Line Official “หมอพร้อม” และไม่สามารถติดต่อผ่านศูนย์บริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลได้ กทม.จะจัดเจ้าหน้าที่ติดต่อผ่านทางโทรศัพท์หรือติดต่อโดยตรงที่บ้าน หากท่านประสงค์จะรับวัคซีนจะกำหนดนัดเพื่อเข้ารับวัคซีนต่อไป ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ทางสายด่วนโทร. 1442 และโทร. 1330