“ปิยะสกล”จ่อถก”วิษณุ”ปม”กม.บัตรทอง”สั่งปลัดสธ.-เลขาฯสปสช. ยุติ”แยกเงินเดือน”สัปดาห์หน้า

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 17 กรกฎาคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังหารือร่วมกับ ผู้ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับ…) พ.ศ.. ว่า หลังจากทางคณะกรรมการพิจารณายกร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่มี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน เสนอร่าง พ.ร.บ.ฯที่ผ่านการทำประชาพิจารณ์ รวบรวมมายังตนแล้วนั้น เมื่อช่วงบ่ายวันนี้ (17 ก.ค.) ตนได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง มี รศ.วรากรณ์และมีรองประธานคณะกรรมการ 2 ท่าน คือ นพ.เสรี ตู้จินดา และ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา รวมทั้งนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และนพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมทั้งตัวแทนองค์กรภาคเอกชน (เอ็นจีโอ) มาเข้าร่วม คือ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการสปสช.สัดส่วนภาคประชาชน และนพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการสปสช.สัดส่วนภาคประชาชน เพื่อหารือถึงประเด็นต่างๆ ร่วมกัน

ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้วมีไม่กี่เรื่องที่ต้องไปพิจารณาเพิ่มเติม อาทิ เรื่องจัดการซื้อยา การแยกเงินเดือน เป็นต้น โดยในเรื่องการจัดซื้อยานั้นตนได้มอบให้ปลัดสธ.ไปหารือกับเลขาฯ สปสช.อีกครั้งในวันที่ 22-23 กรกฎาคมนี้ ภายใต้ข้อกำหนดที่ประชาชนต้องได้ประโยชน์เท่าเดิมหรือดีขึ้นกว่าเดิม และทำให้ระบบเกิดความยั่งยืน สำหรับการแยกเงินเดือน ก็จะต้องมีการทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น เช่น นอกจากแยกกับไม่แยกเงินเดือนแล้วจะสามารถมีทางเลือกที่สามได้อีกหรือไม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาวเป็นหลัก

“หลังจากทางปลัดสธ.และเลขาธิการสปสช.หารือเพื่อหาทางออกอื่นๆนั้น ก็จะเสนอต่อ รศ.วรากรณ์ หากปรับแก้เพิ่มเติมได้ก็จะดำเนินการ ขณะเดียวกันก็ต้องรอการพิจารณาร่างจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยว่า มีปรับปรุงอย่างไร หลังจากทุกอย่างเรียบร้อยคาดว่าจะแล้วเสร็จขั้นตอนนี้ประมาณสัปดาห์หน้า จากนั้นผมก็จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป และล่าสุดในวันที่ 18 กรกฎาคม ผมจะนำข้อมูลทั้งหมดร่วมหารือกับท่านวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้วย” ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวและว่า ส่วนเรื่องร่วมจ่ายนั้น ตนไม่ได้ไปปรับเพิ่มเติมอะไร เป็นไปตามที่คณะกรรมการเสนอมา

รศ.วรากรณ์กล่าวว่า มั่นใจได้ว่าการแก้ไขกฎหมายบัตรทองในครั้งนี้ไม่มีใครเสียประโยชน์แน่นอน การแก้ไขก็ทำเพื่อประชาชนในอนาคต

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวภายหลังถูกเชิญในฐานะภาคประชาชนที่ได้ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการ สธ. ว่า การประชุมครั้งนี้ได้รับแจ้งว่าเป็นการประชุมแบบไม่เป็นทางการ โดยได้แจ้งต่อที่ประชุมในครั้งนี้ว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ไม่เห็นด้วยกับการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ในครั้งนี้ตั้งแต่แรก แต่ถ้า รัฐมนตรีว่าการ สธ.จะดำเนินการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ต้องแก้เฉพาะในประเด็นที่เป็นไปตามคำสั่ง มาตรา 44 ที่ 37/2559 และให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ สปสช.สามารถจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ตามที่ได้ดำเนินการมาด้วยดีตลอด 10 กว่าปีมานี้ได้เท่านั้น ส่วนประเด็นอื่นที่คณะกรรมการแก้ฯ เพิ่มเข้ามา กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ขอคัดค้าน ไม่ให้แก้จนกว่าจะจัดทำการศึกษาและมีข้อมูลวิชาการมาประกอบการพิจารณาก่อน รวมทั้งต้องดำเนินการจัดกระบวนการแก้ไข(ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับใหม่ให้สอดคล้องและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายบัตรทองครั้งนี้ มีกระบวนการแก้ไขที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ขัดกับหลักการตามมาตรา 77 ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่ระบุชัดเจนว่า การยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายต้องมีการรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้อง และต้องมีการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รัฐบาลจึงไม่ควรที่จะดำเนินการพิจารณากฎหมายที่สุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดรัฐธรรมนูญ การแก้ไขกฎหมายบัตรทองครั้งนี้ เป็นที่สนใจและสร้างความไม่มั่นใจให้กับประชาชน และกลุ่มเครือข่ายประชาชนอย่างกว้างขวาง เกินกว่าการจับตามองของกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ไปแล้ว และได้สร้างกระแสความไม่เห็นด้วย และความกังวลต่อการแก้ไขกฎหมายบัตรทองที่ประชาชนมองว่าเป็นสมบัติเพียงชิ้นเดียวที่จะเป็นหลักประกันในการมีชีวิต ซึ่งทางกลุ่มคนรักหลักประกันฯ มองว่าหากดึงดันแก้ไขโดยไม่ฟังเสียงประชาชนเลยแบบนี้ ประชาชนที่ติดตามเหล่านี้คงลุกขึ้นมาคัดค้านทั่วประเทศอย่างแน่นอน

 

ที่มา : มติชนออนไลน์