ระบบลูกโซ่ความเย็น ปัจจัยสำคัญ “วัคซีนโควิด”

วัคซีนโควิด-ระบบลูกโซ่ความเย็น-1

วัคซีนโควิด-19 “ซิโนแวก-แอสตร้าเซนเนก้า” ล็อตแรก รวมแล้วกว่า 300,000 โดส ถึงประเทศไทยอย่างปลอดภัย เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งทุกกระบวนการขนส่งวัคซีนก่อนถึงมือแต่ละประเทศจะต้องรักษาประสิทธิภาพของวัคซีนให้ได้มากที่สุด

“ความเย็น” หรืออุณหภูมิเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับกระบวนการจัดเก็บและการขนส่งซึ่งจะต้องรักษาอุณหภูมิให้เชื่อมต่อกันตลอดการขนส่งวัคซีน หากกระทบกับแสงแดดโดยตรงหรือได้รับอุณหภูมิที่มากเกินกว่าที่ควรจะได้รับ จะส่งผลให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง

ข้อมูลจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยเภสัชกรหญิงศิริรัตน์ เตชะธวัช หัวหน้ากลุ่มบริหารเวชภัณฑ์ กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนมี 3 อย่าง ได้แก่

  • ความร้อน
  • ความเย็นจัด
  • แสง

วัคซีนจะต้องถูกควบคุมอยู่ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส โดยจะอยู่ใน “ระบบลูกโซ่ความเย็น (Cold chain system)” คือ ระบบที่ใช้ในการจัดเก็บและกระจายวัคซีนให้คงคุณภาพดี ตั้งแต่ผู้ผลิตวัคซีนจนถึงผู้รับบริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค

ความสำคัญ “ระบบลูกโซ่ความเย็น”

  • หากไม่มี “ลูกโซ่ความเย็น” วัคซีนจะเสื่อมสภาพได้ง่าย เมื่อเวลาผ่านไปความแรงของวัคซีนจะลดลง
  • หากวัคซีนได้รับอุณหภูมิที่สูงขึ้น จะทำให้ความแรงของวัคซีนลดลงเร็วขึ้น
  • วัคซีนบางชนิดจะสูญเสียความแรงทันที หากอยู่ในอุณหภูมิที่ทำให้แข็งตัว
  • หากวัคซีนเสื่อมสภาพ จะทำให้ผู้รับบริการไม่ได้รับการป้องกันโรค
  • วัคซีนที่เสื่อมสภาพจากการ Freezing ฉีดแล้วจะทำให้เป็นไตแข็ง (AEFI)

สำหรับอุปกรณ์ใน “ระบบลูกโซ่ความเย็น” มี 5 อย่างด้วยกัน ได้แก่

  1. ตู้เย็นที่ใช้ในการจัดเก็บวัคซีน (Refrigerator) ไม่ควรเกิน 10 ปี โดยไม่แนะนำให้ใช้ตู้เย็นแบบประตูกระจกใส เพราะแสงจะสามารถส่องผ่านเข้าไปได้ หากโดนวัคซีนอาจทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง
  2. หีบเย็น (Vaccine cold box) ใช้เก็บวัคซีนในระหว่างการขนส่งหรือเมื่อไฟฟ้าดับนาน/ตู้เย็นเสีย มีขนาดใหญ่พอที่จะใช้ขนส่งวัคซีนในแต่ละเดือน หรือเก็บวัคซีนเมื่อตู้เย็นเสีย/ละลายน้ำแข็ง มีประสิทธิภาพเก็บความเย็นได้นาน 2-7 วัน
  3. กระติกวัคซีน (Vaccine carrier) ใช้ในการขนส่งหรือเก็บวัคซีนชั่วคราวเหมือนหีบเย็น แต่มีขนาดเล็กกว่า สามารถเก็บความเย็นได้นาน 48 ชั่วโมง โดยมีไอซ์แพ็ก (Ice-pack) ขนาดพอดีกับกระติก
  4. ไอซ์แพ็ก (Ice-pack) คือ ซองพลาสติกใส่น้ำมีฝาปิดและนำไปแช่แข็ง ใส่น้ำถึงระดับที่บ่งชี้ วางแนวตั้ง มีช่องว่างระหว่างแผ่น ระหว่างการให้บริการ ห้ามวางวัคซีนบนไอซ์แพคที่ยังเป็นน้ำแข็ง แต่ควรวางในแผ่นฟองน้ำที่อยู่ในกระติกวัคซีน
  5. อุปกรณ์ควบคุมกำกับอุณหภูมิ
  • Vaccine vial monitor (VVM) : ใช้ชี้บ่งว่าวัคซีนสัมผัสกับความร้อนมาในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ออกจากโรงงานผลิตวัคซีนจนถึงผู้ใช้การเปลี่ยนแปลงของเครื่องหมาย VVM จะเตือนให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าวัคซีนได้สัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงเกินไปจนมีผลต่อคุณภาพของวัคซีนโดยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของสีในสี่เหลี่ยมว่าเข้มขึ้นหรือไม่
  • Freeze watch (FW) : ใช้ในการกำกับติดตามอุณหภูมิในระหว่างการจัดเก็บหรือขนส่งวัคซีนซึ่งมี 2 ชนิด คือ ชนิด 0°C หรือ -4°C เพื่อเตือนว่า วัคซีนสัมผัสกับอุณหภูมิที่เย็นจัด โดยวาง FW ไว้ในตู้เย็น หีบเย็นหรือกระติกวัคซีน ถ้า FW สัมผัสกับอุณหภูมิที่ต่ำกว่า 0°C สีน้ำเงินที่อยู่ในกระเปาะจะแตกออกมาเปื้อนแผ่นสีขาวที่รองอยู่ FW จึงเป็นอุปกรณ์ที่ชี้บ่งว่าวัคซีนอาจกระทบกับจุดเยือกแข็ง
  • Data logger : ใช้บันทึกอุณหภูมิ ซึ่งมีโปรแกรมที่ใช้กำหนดการทำงานโดยมี Sensor ที่ใช้วัดและบันทึกอุณหภูมิในช่วงประมาณ -40oC ถึง +85oC และสามารถตั้งค่าการทำงานให้บันทึกอุณหภูมิได้เป็นวินาที/นาที/ชั่วโมง สามารถบันทึกอุณหภูมิได้เป็นร้อย/พัน/หมื่นครั้ง (แล้วแต่รุ่น) แสดงผลเป็นกราฟ วัน/เวลา และอุณหภูมิที่บันทึกและข้อมูลทางสถิติ เช่น ค่าสูงสุด ต่ำสุด และค่าเฉลี่ย
  • เทอร์โมมิเตอร์ (Thermometer) : ใช้วัดอุณหภูมิ ซึ่งควรเป็นชนิดที่วัดอุณหภูมิได้ทั้งค่าบวกค่าลบ (ประมาณ -30 ถึง +50 °c) โดยวางหัววัดเทอร์โมมิเตอร์ไว้ตรงกลางตู้เย็น

แผนการจัดหาวัคซีนโควิดของไทย

สำหรับข้อมูลแผนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย จากการเปิดเผยของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 มีดังนี้

วัคซีน “ซิโนแวก” 

วัคซีนโควิด “ซิโนแวก” เข้าประเทศไทย จำนวน 2 ล้านโดส เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2564 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 : จำนวน 200,000 โดส
  • เดือนมีนาคม 2564 : จำนวน 800,000 โดส
  • เดือนเมษายน 2564 : จำนวน 1,000,000 โดส

วัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า”

สำหรับวัคซีนโควิด “แอสตร้าเซนเนก้า” จะเข้าประเทศไทย 2 รอบ ได้แก่

รอบแรก จำนวน 26 ล้านโดส เดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2564 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • เดือนมิถุนายน 2564 : จำนวน 6,000,000 โดส
  • เดือนกรกฎาคม 2564 : จำนวน 10,000,000 โดส
  • เดือนสิงหาคม 2564 : จำนวน 10,000,000 โดส

รอบสอง จำนวน 35 ล้านโดส เดือนกันยายน – ธันวาคม 2564 แบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • เดือนกันยายน 2564 : 10,000,000 โดส
  • เดือนตุลาคม 2564 : 10,000,000 โดส
  • เดือนพฤศจิกายน 2564 : 10,000,000 โดส
  • เดือนธันวาคม 2564 : 5,000,000 โดส