กรมชลฯ เผยแผนเตรียมรับมือฤดูฝนภาคใต้ สั่งเฝ้าระวังจุดเสี่ยง ระดมเครื่องจักร-เครื่องมือ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สสนก. ขณะนี้ฝนกำลังเคลื่อนตัวลงสู่ภาคใต้โดยในช่วงต้นเดือนพ.ย. 2560 จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ดังกล่าว กรมชลประทานได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือในทุกๆ ด้าน เริ่มตั้งแต่บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2560 เพื่อเตรียมรับสถานการณ์น้ำกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องคือ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การรถไฟแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

โดยในส่วนของกรมชลประทานได้ส่งเครื่องจักร เครื่องมือไปเตรียมพร้อมเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคใต้แล้ว โดยปัจจุบันนำไปเตรียมไว้ที่จุดพักเครื่องจักร 16 จุด ในพื้นที่ 14 อำเภอ ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำ 380 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 180 เครื่อง เครื่องกำเนิดไฟฟ้า 63 เครื่อง รถบรรทุก 34 คัน รถขุดตีนตะขาบ 30 คัน รถแทรกเตอร์ 3 คัน รถลากจูง 12 คัน

นอกจากนี้ ยังสั่งการให้เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ตรวจสอบระบบชลประทาน ความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทานให้สามารถรองรับปริมาณน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ ทำการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดภาวะน้ำท่วมเป็นพิเศษในแต่ละจังหวัด โดยล่าสุดสั่งการให้ผู้รับผิดชอบเร่งดำเนินการลดระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ให้อยู่ในเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำแล้วจำนวน 2 แห่ง คืออ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย จ.เพชรบุรี และอ่างเก็บน้ำห้วยวังเต็น จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 4 แห่ง มีปริมาตรน้ำรวมทั้งหมด 5,746 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 71% สามารถรับน้ำได้อีก 2,448 ล้านลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 39 แห่งมีปริมาตรน้ำรวมทั้งหมด 333 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57% สามารถรับน้ำได้อีกกว่า 233 ล้าน ลบ.ม.

ในขณะเดียวกันได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ชลประทานจัดส่งข้อมูลสถานการณ์น้ำให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง เพื่อทำการแจ้งเตือนข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรับทราบ พร้อมกันนั้นก็ให้มีการจัดทำข้อมูลเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านทางช่องทางต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการวางแผนการติดตามและเฝ้าระวังเตรียมรับสถานการณ์น้ำจากฝนตกหนักและน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนในระยะยาว กรมชลประทานมีแผนที่จะดำเนินโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ที่ความเสี่ยงสูง เช่น โครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองบางสะพาน ซึ่งได้ทำการขุดลอกขยายคลองเพิ่มประสิทธิภาพคลองบางสะพานทั้งคลองสายกลาง คลองฝั่งซ้ายและขวา ความยาวรวม 20 กิโลเมตร โครงการขุดลอกคลองชุมพรเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณสี่แยกปฐมพร ความยาว 20 กิโลเมตร โครงการขุดขยายคลองหลังสวนและขุดคลองบายพาสเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตเทศบาล อ.หลังสวน เป็นต้น

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์