วราวุธ ตอบปัญหาชาวบ้านบางกลอย ไม่ใช่ปัญหาสิทธิมนุษยชน

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

วราวุธ ตอบปัญหาเรื่องชาวบ้านบางกลอย ยัน “ไม่ใช่ปัญหาสิทธิมนุษยชน” เป็นเพียงกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับการเยียวยาที่น่าพอใจ พร้อมตั้งคำถามขึ้นไปพื้นที่ใจแผ่นดิน จะขึ้นไปทำไม ?  

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยในระหว่างการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว “เครือมติชน” เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564

“ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอคำถาม และคำตอบ กรณีความขัดแย้งระหว่างชาวกะเหรี่ยงบางกลอยและอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

บางกลอย ไม่ใช่ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน

รมว. ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมองเป็นเพียงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ในเมือง แล้วกลับมาอยู่ที่หมู่บ้านบางกลอยล่าง จนนำไปสู่ปัญหาที่ทำกินไม่เพียงพอ

พร้อมทั้งกล่าวยอมรับว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาที่ทำกินไม่เพียงพอนั้น เกิดจากความล้าช้าของหน่วยงานราชการ ซึ่งพื้นที่ในบริเวณบางกลอยล่างทั้งหมด มีพื้นที่ 70 – 80 ไร่ ที่ยังไม่พร้อมที่จะนำไปสู่การดำเนินชีวิต น้ำยังไม่ไปไม่ถึง สภาพดินยังเป็นหินดินทราย ยังไม่สามารถทำการเกษตรได้ จนเป็นเรื่องเป็นราวนำไปสู่การเรียกร้องเรื่องมนุษยชนที่เกิดขึ้น

“สำหรับผมไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันหมด เพียงแต่ที่ดินในแปลงนั้นยังไม่ได้รับการพัฒนา” รมว.ทรัพยากรฯ กล่าว

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เข้าไปขุดบ่อใหม่ ในโป่งลึก-บางกลอยล่างแล้ว คาดว่าจะเสร็จในปลายเดือนเมษายนนี้ และจะทำให้สามารถกระจายน้ำไปได้ ส่วนปัญหาทางด้านน้ำสำหรับทำการเกษตร ได้มอบหมายทางกรมน้ำให้ต่อท่อเข้าไปส่วนหนึ่งแล้ว และกำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง

ใจแผ่นดิน ขึ้นไปทำไม ?

สำหรับการที่จะกลับขึ้นไปอยู่บนพื้นที่ “ใจแผ่นดิน” (ที่เป็นประเด็น) ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยเห็นด้วยซ้ำว่า หน้าตาเป็นอย่างไร ไม่ใช่พื้นที่รูปหัวใจ ไม่ใช่พื้นที่ลาดสูง แต่เป็นลาดชันสูง ที่สำคัญเป็นป่าต้นน้ำชั้นเยี่ยม เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเพชร ที่ใช้ผลิตน้ำให้แก่อำเภอแก่งกระจานได้ทั้งอำเภอ ดังนั้นพื้นที่ใจแผ่นดินเป็นพื้นที่ ที่ยากสุด ๆ พื้นที่ทำกินก็ไม่มี ระบบสาธารณูปโภคก็ไม่มี

ชาวกะเหรี่ยงเคยเล่าให้ฟังว่า การเดินทางจากบางกลอยล่าง ไปบางกลอยกลาง ใช้เวลา 1 คืน แต่จากบางกลอยล่างถึงใจแผ่นดินใช้เวลา ถึง 7 วัน แต่ในขณะที่ “พื้นที่ใจแผ่นดิน” ใช้เวลาเพียง 1 วัน ก็สามารถเดินทะลุข้ามไปประเทศเมียนมาได้”

เมื่อครั้งกลุ่มคนเหล่านั้นกลับลงมายังพื้นที่บางกลอยล่าง ได้มีการตรวจสุขภาพ ก็พบว่า เด็กมีอาการขาดสารอาหาร มีไข้ ในขณะที่พื้นที่บางกลอยล่าง เรามีพื้นที่โรงเรียน มีเครื่องสาธารณูปโภคพร้อม แต่การที่จะกลับขึ้นไปยังพื้นที่ใจแผ่นดินก็เป็นพื้นที่ที่ล่อแหลม ที่ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน

อยู่ก่อน อยู่หลัง มาพิสูจน์สิทธิ์

นายวราวุธ ระบุ นายกฯ เคยกล่าวว่า ที่อยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าไม่ให้อยู่ แต่ต้องพิสูจน์สิทธิ์ว่าเป็นไปตามกฏหมายหรือไม่

แต่การพิสูจน์ตัวตนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะคือการนำพื้นที่ของหลวงไปให้แก่ประชาชน แต่ถ้าพิสูจน์แล้วว่า อยู่มาก่อนที่จะกำหนดกฏหมายจริง เราก็ต้องให้สิทธิ์แก่เขา แต่ทั้งหมดนี้ศาลได้พิพากษาออกมาแล้ว แต่เราก็ดำเนินการตามคำพิพากษาของศาล

“เราก็มาดูกันว่าคุณเป็นใคร มาจากไหน ลูกเต้า เหล่าใคร เกิดที่ไหน มีสิทธิ์ที่จะอยู่หรือไม่ ไม่เช่นนั้น ทุกคนก็จะบอกว่ามีสิทธิ์หมด เพราะจะบอกว่ามีสิทธิ์หมดมันเป็นไปไม่ได้ เพราะตั้งแต่เริ่มแรก ปี 40 มีประชากรประมาณ 98 ครอบครัว จากตอนนี้ ปาเข้าไป 200 กว่าครอบครัว มีประชากรเป็นพันกว่ากว่าคน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ในระยะเวลา 20 ปี ที่ออกลูกหลานมากมายขนาดนั้น”

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

มองในมุมมองของผม ผมมองเรื่องนี้ว่า มันไม่เห็นเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิมนุษยชนตรงไหน เพราะทุกคนมีเหมือนกันหมด ผมอ้างได้ว่า ผมก็มีสิทธิมนุษยชนเหมือนกัน เพราะผมก็เป็นคนไทยคนหนึ่ง ป่าแก่งกระจานก็เป็นของผมเหมือนกัน

“สำหรับผมไม่ได้มองว่า เป็นปัญหาในเรื่องของสิทธิมนุษยชน แต่ผมมองว่าเป็นเพียงพี่น้องกลุ่มหนึ่งที่ขาดการ Support ยังไม่ได้รับการเยียวยาที่น่าพอใจ”

พร้อมชี้แจง “ยูเนสโก”

ส่วนประเด็นการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติของพื้นที่ป่าแก่งกระจาน ที่คณะกรรมการมรดกโลก ของยูเนสโก ได้เลื่อนออกไปและจะถูกพิจารณาอีกครั้งในการประชุมครั้งที่ 44 ระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2564  ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมานั้น

หากมีคณะกรรมการสักถามก็พร้อมตอบ ต้องทำเอกสารชี้แจง เนื่องจากเราทำทุกอย่างตามขั้นตอนแะลตามหลักการทั้งหมด และที่ผ่านมาเราก็มีการเจรจาอย่างละมุนละม่อม ไม่เคยใช้ความรุนแรง ปฏิบัติกับชาวบ้านถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ทำทุกอย่างด้วยความเข้าใจกัน เป้าหมายหนึ่งที่จะทำให้พื้นที่นั้นเป็นมรดกโลก สิ่งสำคัญคือการที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้นอุดมสมบูรณ์

กาลเวลากับประเพณีทำไร่หมุนเวียน

แต่ด้วยวิถีชีวิตของพี่น้องชาวกะเหรี่ยงที่มีวัฒนธรรมประเพณีการทำไร่หมุนเวียน ต้องใช้ที่หลายสิบไร่ หลายร้อยไร่ ขนาดทำอ่างเก็บน้ำเพื่อเกษตรกร ที่เป็นประโยชน์ต่อหลายแสนราย ในพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ ยูเนสโก ยังตั้งธงว่า จริงหรือเปล่า เพราะถ้าตอบไม่ดีก็จะปลดเขาใหญ่ออกจากมรดกโลก

ส่วนในกรณีนี้ ก็ต้องดูว่า ยูเนสโก จะยอมไหม แล้วให้พี่น้องกะเหรี่ยงทำไร่หมุนเวียนไป คนละ 500 ไร่ แล้วถ้าเกิดปริมาณเพิ่มขึ้น จาก 500 ไร่ ยูเนสโกจะยอมไหม ถ้ายอมก็ต้องถามหลักการกันใหม่

ประเพณีของพี่น้องชาวกะเหรี่ยง ในการทำไร่หมุนเวียนต่าง ๆ มีทั้งข้อดีและข้อด้อย แต่พอกาลเวลาผ่านไป จากพื้นที่ต้องใช้เป็นหลายสิบไร่ เป็นหลายร้อยไร่ ขึ้นมาเป็นหลายพันไร่ ประเพณีต่าง ๆ เหล่านี้ มันควรจะได้รับการปรับปรุงหรือไม่

ปรับปรุงในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ต้องคิดวิธีการทำการเกษตรกรแบบอื่น แต่หากยังต้องมีการทำไร่หมุนเวียน เป็นเชิงสัญลักษณ์ ทุกบ้านต้องทำไร่หมุนเวียนหมด

เช่น รัฐให้ที่ 40 ไร่ หมุนเวียน 4 ไร่ 10 ปี 40 ไร่ แต่ถ้าทุกบ้านทำไร่หมุนเวียนหมด อีก 30 ปี หากในอนาคตต้องทำพื้นที่คนละหมื่น ๆ ไร่ ในอนาคตจะทำอย่างไร หากป่าหมด แล้วสุดท้ายปัญหาก็กลับมาที่รัฐบาล

“กาลเวลาเปลี่ยนไป วัฒนธรรมหรือประเพณีต่าง ๆ ต้องปรับให้เข้ากับสภาพ ว่ามันเป็นอย่างไร มนุษย์เราจะสามารถดำรงชีพต่อไปในอนาคตได้ มนุษย์ต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ต้องปรับให้เข้ากับธรรมชาติ ไม่ใช่ธรรมชาติมาปรับตัวให้เข้ากับมนุษย์”

“ประเทศไทยชอบดราม่า มาโกนหัวโกนอะไรกัน ไม่เข้าใจเหมือนกัน ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือคำว่ากลุ่มชาติพันธุ์ที่ผมไม่เคยใช้เลย เพราะอยู่ชาติไหน ก็ชาติไทยทั้งนั้น เพราะในสายตาผม อยู่ในแผ่นดินไทย คือคนไทย ดังนั้นไม่ต้องมาพูดเรื่องชาติพันธุ์กับผม ไม่ต้องพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนกับผม เพราะวันนี้ผมกำลังแก้ไขปัญหาเรื่องพี่น้องประชาชนที่ไม่มีน้ำทำการเกษตร ไม่มีที่ดินที่จะประกอบทำมาอาชีพ”

เมื่อโควิดจบ เรื่องจะจบ

“วราวุธ” มองถึงปัญหาชาวบ้านบางกลอยว่า ท้ายที่สุดหลังโควิดหายไป กลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ก็กลับมาเข้ามาทำงานในเมือง ไม่มีใครอยู่หรอกบางกลอย ทุกวันนี้กะเหรี่ยงหลายคนก็มีมือถือ อัดคลิปอะไรเยอะแยะ เรียกได้ว่าเป็นกะเหรี่ยงแต่การดำรงชีวิตเป็นคนเมืองไปแล้ว หลังแก้ไขปัญหาเรื่องโควิดได้ ก็กลับเข้ามาอยู่ในอยู่ในเมืองใหม่ แล้วปัญหาที่ทำกินที่ไม่พอ ก็จะกลับมาพอเหมือนเดิม

“มาถึงตอนนี้ผมก็ยังไม่เห็นว่ามันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยตรงไหน ที่บอกว่าบางกลอยก็คน ก็คนเหมือนกันหมดแหละ ผมไปมากว่า 67 จังหวัด..คนไทยทั้งหมด คนไทยทั้งนั้น อย่ามาบอกว่าตรงนั้นก็คน คนพูดนั่นแหละที่จะด้อยค่าพี่น้องชาวบางกลอย บางทีเขายังไม่ได้เดือนร้อนเลย”


“ผมจึงเน้นย้ำตั้งแต่แรกว่า การทำงานของกระทรวงทรัพยากรในฐานะรัฐมนตรีว่า เราทำตามกรอบของกฏหมาย ทุกระเบียบนิ้ว ไม่เกินไม่ขาด ถ้าขาดเราก็ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าเกินก็แปลว่า รังแกประชาชน ซึ่งหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม คือการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่เรามี ดูแลป่าแก่งกระจานและอีกหลาย ๆ แห่ง ในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนควบคู่ไปด้วย”