สธ. ปรับแผนฉีดวัคซีนโควิด ครบทุกจังหวัด 1 เม.ย.นี้

REUTERS/Sergio Perez/File Photo

กระทรวงสาธารณสุข ปรับแผนฉีดวัคซีนโควิด ปูพรมกลุ่มเป้าหมายเริ่ม 1 เม.ย. ฉีดล็อตใหญ่ มิ.ย. รับเปิดประเทศเดือน ต.ค.

วันที่ 30 มีนาคม 2564 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหาร ประชุมทางไกลนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศ เรื่องแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เห็นชอบการเปิดประเทศภายในเดือนตุลาคม 2564

ซึ่งการเปิดประเทศอย่างปลอดภัยจะต้องฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในระดับจังหวัดให้ได้ร้อยละ 50-60 ของประชากร โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นเป้าหมายการเดินทางของชาวต่างชาติ และจังหวัดที่อาจจะมีชาวต่างชาติเดินทางไป ดังนั้น การกระจายและฉีดวัคซีนจะใช้สามเหลี่ยมขับเคลื่อนวัคซีน คือ

1.Area โดยจัดลำดับพื้นที่ เน้นอำเภอที่เป็นจุดเสี่ยงระบาดและมีนักท่องเที่ยว ฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรด่านหน้า/ เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้ครอบคลุมมากที่สุดก่อน แล้วกระจายอำเภออื่นลดหลั่นลงไป

2.Setting หรือสถานที่ฉีด อาจดำเนินการเพิ่มได้ในโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือการออกหน่วยบริการ เพื่อให้มีความครอบคลุมมากขึ้น โดยมีขั้นตอนการฉีดตามมาตรฐาน เน้นการสังเกตอาการให้ครบ 30 นาทีหลังฉีด และมีทีมแพทย์ดูแลเรื่องความปลอดภัย

3. Data ดำเนินการเรื่องข้อมูลผ่านระบบไลน์หมอพร้อม

นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับวัคซีนโควิด 19 ของซิโนแวกจำนวน 8 แสนโดส จะกระจายให้ครบทุกจังหวัดทั่วประเทศ เริ่มดำเนินการฉีดวันที่ 1 เมษายน 2564 ดังนี้

1.จังหวัดเป้าหมาย 22 จังหวัด ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่เพื่อควบคุมการระบาดของโรค 6 จังหวัด 3.5 แสนโดส, พื้นที่ท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 จังหวัด 2.4 แสนโดส โดยอาจเพิ่มกลุ่มพนักงานโรงแรม และพนักงานขับรถสาธารณะ

และพื้นที่ชายแดนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ 8 จังหวัด 5 หมื่นโดส เน้นผู้ที่ทำงานที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ปฏิบัติในสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสถานกักตัว

2.จังหวัดอื่นๆ ที่เหลือจำนวน 1.6 แสนโดส เพื่อซักซ้อมความพร้อมทุกจังหวัดก่อนเริ่มฉีดวัคซีนจำนวนมากในช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป โดยกระจายให้จังหวัดขนาดเล็ก ประชากรน้อยกว่า 1 ล้านคน จำนวน 800 โดส, จังหวัดขนาดใหญ่ ประชากร 1 -1.5 ล้านคน จำนวน 1,000 โดส และจังหวัดขนาดใหญ่พิเศษ มีประชากรมากกว่า 1.5 ล้านคน จำนวน 1,200 โดส เน้นการฉีดในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า

นอกจากนี้ ยังเตรียมวัคซีนสำหรับ อสม.อีกจังหวัดละ 1,000 โดส ดังนั้น จังหวัดขนาดเล็กจะได้รับวัคซีน 1,800 โดส จังหวัดขนาดใหญ่ได้รับวัคซีน 2,000 โดส และจังหวัดขนาดใหญ่พิเศษจะได้รับวัคซีน 2,200 โดส


สำหรับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 1 ขวด ตามปกติสามารถฉีดได้ 10 โดส โดสละ 0.5 มิลลิลิตร เนื่องจากผู้ผลิตได้บรรจุวัคซีนมาเผื่อ โดย 1 ขวดมีวัคซีนปริมาณ 6.5 มิลลิลิตร หากบริหารจัดการการฉีดอย่างดีอาจฉีดได้ 11-12 โดสต่อขวด จะทำให้ฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำรวจความต้องการผู้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ตามความสมัครใจ