อนุทินยกย่อง “บัตรทอง” พลิกโฉมสาธารณสุขไทย เลิกไม่ได้ มุ่งพัฒนา “30 บาทรักษาทุกที่” ให้ดีขึ้น

วันที่ 31 มีนาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสวนาพิเศษ “ร่วมทางเดียวกัน จาก 30 บาทรักษาทุกโรคสู่ 30 บาทรักษาทุกที่” ในงานเปิดตัวหนังสือ “ระหว่างบรรทัด” หนังสือบันทึกประวัติศาสตร์บัตรทอง ณ อาคารบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน)

นายอนุทินกล่าวว่า โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นนโยบายที่มีความสำคัญมาก เป็นการพลิกโฉมระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ตนเองเคยร่วมงานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อครั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตอนที่โครงการนี้ตั้งไข่ได้แล้ว และมีความเห็นว่า อย่ากังวลว่าโครงการนี้จะทำให้โรงพยาบาลล้มละลาย เพราะโรงพยาบาลเป็นของรัฐ รัฐมีหน้าที่ต้องดูแล

“คุณูปการของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค สำหรับผมคือ มันทำให้คำคำหนึ่งที่ผมเกลียดที่สุดหายไป คือการที่เห็นเพื่อนร่วมชาติถูกเรียกว่าเป็น ‘ผู้ป่วยอนาถา’ หรือ ‘คนไข้อนาถา’ เป็นคำที่แสบหัวใจเหลือเกิน พอมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้ประชาชนเกิดสิทธิ คือ รัฐต้องให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนทุกคน ทำให้ไม่มีคำว่าผู้ป่วยอนาถา”

นายอนุทินกล่าวอีกว่า ตนเคยเข้าไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในช่วงที่โครงการเดินหน้าแล้ว ซึ่งมีอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ แต่ไม่มีใครกล้ายกเลิก โครงการนี้ต้องเดินหน้า ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ปัญหา

“เรามีหน้าที่ต่อยอดและสังคมไทยต้องไม่ลืมคนให้กำเนิด ต้องไม่ลืมคนคิดโครงการดี ๆ อย่างนี้ แล้วทำให้มันดียิ่ง ๆ ขึ้นไป”

นายอนุทินกล่าวอีกว่า เมื่อได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในปี 2562 ความคิดแรกคือ คิดว่าจะทำให้ “30 บาทรักษาทุกโรค” ดีขึ้นได้อย่างไร จึงได้ติดต่อขอคำปรึกษาจากนายแพทย์สุรพงศ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายอนุทินกล่าวถึงพัฒนาการของบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค หรือระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ว่า ที่ผ่านมาบัตรทองยกระดับมาตลอด จากคำว่ารักษาทุกโรคซึ่งเดิมรักษาไม่ได้ทุกโรคจริง พัฒนายกระดับจนสามารถรักษาได้ทุกโรคจริง ๆ รวมไปถึงโรคหายาก (Rare disease) และได้ยกระดับเป็น “รักษาทุกที่” เพื่อความสะดวกของประชาชนให้รักษาทุกที่ได้อย่างสะดวกจริง ๆ จากเดิมที่ก่อนหน้านี้สามารถรักษาทุกที่ได้กรณีป่วยฉุกเฉิน และรักษาได้เพียง 3 วัน หลังจาก 3 วันต้องทำเรื่องส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่ใช้สิทธิ ซึ่งมีปัญหามากมาย และเป็นความไม่สะดวกสำหรับประชาชน

การนำร่อง “30 บาทรักษาทุกที่” ในช่วงที่ผ่านมาได้รับการตอบรับอย่างดี ซึ่งตอนนี้ได้พัฒนาต่อยอดไปไกลถึงการรักษาโรคมะเร็งได้ทุกที่ ในปีนี้ได้เพิ่มเครื่องฉายรังสีโรคมะเร็งอีก 7 เครื่อง ทำให้ศูนย์มะเร็งทั่วประเทศสามารถรักษาคนไข้ได้มากขึ้น นี่คือสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขพยายามให้ให้ประชาชนสะดวกมากที่สุด ลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดความถี่ในการที่คนไข้จะต้องพบแพทย์

“ตอนนี้การให้บริการครอบคลุมครบหมดแล้ว เหลือแต่จะทำอย่างไรให้มีสถานพยาบาลมากขึ้น และบริการได้ดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น อย่างเรื่องที่จอดรถ เป็นสิ่งที่โรงพยาบาลยังขาด เราต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนอย่างครบวงจร”

นอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแสดงความเห็นอีกว่า เรื่องที่ประเทศไทยขาดแคลนแพทย์ ควรแก้ปัญหาโดยการจ้างแพทย์ที่เกษียณอายุที่มีประสบการณ์สูงมาช่วยงานในโรงพยาบาล ทั้งรักษาคนไข้ ให้คำปรึกษาแก่แพทย์อินเทิร์นและแพทย์ที่ยังมีประสบการณ์น้อย ไปจนถึงเป็นที่ปรึกษาหน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงฯ