ดีเดย์! 1 เม.ย. ลดเวลากักตัวเหลือ 10 วัน ยกเว้นมาจากแถบแอฟริกาใต้

ลดกักตัวเหลือ 10 วัน เริ่มวันที่ 1 เมษายนนี้
Image by Rudy and Peter Skitterians from Pixabay

ดีเดย์วันนี้! ลดเวลากักตัว คนไทยและต่างชาติ ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เหลือ 10 วัน ยกเว้นมาจากแถบแอฟริกาใต้

วันที่ 1 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงมาตรการผ่อนคลาย โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้ามายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า จะลดวันกักตัวทั้งคนไทยและต่างชาติจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน ตามประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน นี้

“โดยมีข้อแม้ว่า ถ้าเป็นคนต่างชาติ จะต้องมีการตรวจหาเชื้อไวรัสก่อนว่าไม่พบโควิด-19 แต่คนไทยไม่ต้องตรวจก่อน โดยไปตรวจในสถานที่กักกัน นอกจากนี้ จะมีข้อยกเว้นสำหรับบางพื้นที่ต้นทางที่มีคนเดินทางเข้ามา เนื่องจากเชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ เพราะฉะนั้น ถ้าสายพันธุ์ใดแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น ประสิทธิภาพป้องกันโดยวัคซีนลดลง และเป็นรุนแรงมากขึ้น ถือว่าเป็นการกลายพันธุ์ที่ให้ความสนใจ” นพ.โอภาสกล่าวและว่า

“ขณะนี้เป็นที่ยอมรับว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ อาจจะทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง ดังนั้น ในการประกาศลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน จะมีข้อยกเว้นประเทศต้นทางของผู้เดินทางทุกสัญชาติ ถ้าภายใน 14 วัน เดินทางมาจากประเทศที่มีข้อมูลระบาดวิทยาว่ามีสายพันธุ์นี้ระบาดอยู่ หรือมีปัจจัยอื่นที่จะเชื่อได้ว่าจะทำให้ระบบป้องกัน ควบคุมโรคของประเทศไทยเกิดปัญหาขึ้น จะกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต้นทางนั้นเป็นเวลา 14 วัน”

นพ.โอภาส ยังได้ยกตัวอย่าง เช่น 10 ประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ได้แก่

  1. สาธารณรัฐแอฟริกาใต้
  2. สาธารณรัฐซิมบับเว
  3. สาธารณรัฐโมซัมบิก
  4. สาธารณรัฐบอตสวานา
  5. สาธารณรัฐแซมเบีย
  6. สาธารณรัฐเคนยา
  7. สาธารณรัฐรวันดา
  8. สาธารณรัฐแคมารูน
  9. สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
  10. สาธารณรัฐกานา

ทั้งนี้ ประเทศที่ตรวจพบเชื้อสายพันธุ์นี้ในสถานที่กักกันในประเทศไทย คือ สาธารณรัฐแทนซาเนีย และสาธารณรัฐโมซัมบิก

“ประเทศเหล่านี้เป็นต้น หลังวันที่ 1 เมษายน ยังคงมีการกักตัว 14 วัน เท่าเดิม และข้อมูลนี้จะส่งให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และประกาศในเว็บไซต์กรมควบคุมโรค โดยจะมีการปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน        (อัพเดต) ทุก 2 สัปดาห์” นพ.โอภาส กล่าว