สาธารณสุข เผย 10 เม.ย. นี้ วัคซีนซิโนแวคมาอีก 1 ล้านโดส

กระทรวงสาธารณสุข เผย วัคซีนซิโนแวค จะถูกส่งมาไทยอีก 1 ล้านโดส ในวันที่ 10 เม.ย.นี้ ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าล็อตใหญ่ 5 ล้านโดสแรก เตรียมส่งมอบกลาง พ.ค. เริ่มเปิดให้ประชาชนจองคิวผ่าน “หมอพร้อม” ปลาย พ.ค.นี้

วันที่ 1 เมษายน 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้การควบคุมสถานการณ์โควิดระลอกใหม่เริ่มดีขึ้น พบผู้ติดเชื้อบ้างประปราย ไม่มีการแพร่ระบาดรุนแรง และไทยได้สั่งซื้อวัคซีนจาก 2 บริษัท คือ ซิโนแวก 2 ล้านโดส และแอสตร้าเซนเนก้า 61 ล้านโดส

โดยวัคซีนซิโนแวก 2 แสนโดสแรก ฉีดเข็มที่ 1 ในเดือนมี.ค.ได้ครบตามเป้าหมายแล้ว ขณะนี้ได้กระจายอีก 8 แสนโดสไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตามแผนการจัดสรรของคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ฉีดให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อสม. เจ้าหน้าที่ด่านหน้า ตามความสมัครใจ เน้นในพื้นที่เป้าหมายเพื่อควบคุมการระบาด 6 จังหวัด พื้นที่ฟื้นฟูเศรษฐกิจในจังหวัดท่องเที่ยว 8 จังหวัด จังหวัดชายแดน 8 จังหวัด และจัดสรรให้จังหวัดที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน 52 จังหวัด เพื่อเตรียมระบบให้มีความพร้อมสำหรับการฉีดวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะมาถึงในเดือน มิ.ย.นี้

“ทั้งนี้คาดว่าจะได้รับวัคซีนซิโนแวคที่เหลืออีก 1 ล้านโดสในประมาณกลางเดือนเมษายน หรือช่วงประมาณวันที่ 10 เมษายนนี้”

“ส่วนวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในไทยโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ มีแนวโน้มว่าจะส่งมอบล็อตแรก 5 ล้านโดสในช่วงกลางเดือน พ.ค. จากนั้นจะทยอยส่งให้เดือนละ 10 ล้านโดสอีก 5 เดือน และเดือน ธ.ค.ส่งมอบล็อตสุดท้าย 5 ล้านโดส ครบตามจำนวนที่สั่งซื้อ”

นายแพทย์เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า เชื่อมั่นว่าการฉีดวัคซีนจะเป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้ โดยฉีดในโรงพยาบาลได้แห่งละประมาณ 500 โดสต่อวัน และเพิ่มปรับให้มีโรงพยาบาลสนามเป็นสถานที่ฉีด และมีรถบริการเคลื่อนฉีดนอกสถานที่ คาดว่าตั้งเป้าฉีดได้วันละ 1,200 คน ต่อวัน เบื้องต้นได้รับการติดต่อประสานงานจากห้างสรรพสินค้าในการให้บริการสถานที่ เนื่องจากส่วนใหญ่การเดินทางของประชาชนเพื่อมารับบริการติดเรื่องปัญหาที่จอดรถ หากได้รับความช่วยเหลือจากภาคเอกชน จะทำให้การรับบริการฉีดวัคซีนเร็วขึ้น

สำหรับการพัฒนาระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนโควิด 19 ในครั้งนี้ เป็นการพัฒนานวัตกรรมและเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพในอนาคตสำหรับประชาชน อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและลดภาระงานบุคลากรสาธารณสุข ยกระดับระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยตามนโยบาย Advance eHealth ของรัฐบาล

“ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนแอดไลน์ หมอพร้อม ซึ่งจะสามารถใช้ลงทะเบียนจองรับวัคซีน นัดหมายรับวัคซีน ติดตามอาการหลังการฉีด ข้อมูลความรู้ ข้อมูลการฉีดวัคซีนของตนเอง ออกใบรับรองการรับวัคซีนในรูปแบบดิจิทัลหลังจากฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ จะมีคิวอาร์โค้ดเฉพาะบุคคล นำไปใช้ออกสมุดเล่มเหลืองสำหรับผู้เดินทางไปต่างประเทศ เราจะเปิดประเทศเมื่อทุกคนปลอดภัย ร่วมใจกันฉีดวัคซีนเพื่อชาติ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันระดับประเทศ และเข้าสู่การเปิดประเทศ 1 ต.ค.นี้ตามนโยบายของรัฐบาล แต่อาจจะมีบางจังหวัดที่สามารถเปิดได้ก่อน เช่นที่ สมุย ภูเก็ต อย่างภูเก็ตการจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ จะต้องฉีดวัคซีนประมาณ 4 แสนคน ถึงจะเกิดภูมิคุ้มกันพื้นที่ได้ ซึ่งได้จัดสรร ทยอยส่งลงไปแล้ว 2 แสนโดส สำหรับ 1 แสนคน และจะส่งเพิ่มเติมลงไปอีกจนครบ ตอนนี้ทราบว่าฉีดได้ราวๆ วันละ 6-7 พันคน และหากสามารถฉีดได้ตามเป้าหมาย ภูเก็ตก็จะเป็นต้นแบบและจังหวัดแรกๆที่ได้รับวัคซีนครอบคลุม”

ประชาชนจองคิวรับวัคซีนได้ปลาย พ.ค.

ด้านนายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี ประธานคณะทำงานด้านจากระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กล่าวถึงระบบไลน์และแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมว่า ประชาชนสามารถจองได้ผ่านช่องทางไลน์ “หมอพร้อม” หรือแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมได้ ซึ่งจะเปิดให้โหลดได้ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ และเปิดจองคิวได้ราวปลายพ.ค. และโทรศัพท์ติดต่อโรงพยาบาลได้โดยตรง

กรณีกลุ่มคนที่มีการใช้ไลน์หรือสมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว สามารถจองผ่านไลน์หรือแอปฯหมอพร้อม เมื่อได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว โรงพยาบาลจะออกให้เป็นรูปกระดาษ และใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เป็นคิวอาร์โค้ด ที่มีข้อมูลเชื่อมกับระบบสาธารณสุขที่มีอยู่ สามารถเช็คข้อมูลได้ และสามารถนำไปแสดงที่หน่วยงานไหนก็ได้ ซึ่งสามารถตรวจสอบกลับมาที่ฐานข้อมูลของกระทรวง ขณะนี้มีการออกไปแล้ว 35,000 คน

อย่างไรก็ตาม ในต่างจังหวัด ประชากรที่อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลอำเภอมีการใช้ไลน์ประมาณ 40-50 % ดังนั้น กลุ่มที่ไม่มีระบบไลน์และสมาร์ทโฟน โรงพยาบาลจะโทรประสานไปยังประชาชนเอง

“สำหรับกรณีใบรับรองด้านสุขภาพในการเดินทางระหว่างประเทศ( International Travel Health certificate) ก็รอมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่จะออกมาราวสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ และเมื่อมีการออกมาตรฐานสากลใช้สำหรับเดินทางระหว่างประเทศออกมาแล้ว ประเทศไทยก็จะเตรียมระบบรองรับเชื่อมโยงกับระบบสากลต่อไป”