หมอยง แนะ เร่งฉีดวัคซีนวันละ 30 ล้านโดส ภายใน 1 ปี ยุติโควิด

บุคลากรทางการแพทย์แพ้วัคซีน 1 ราย
แฟ้มภาพ

หมอยง เผย อัตราฉีดวัคซีนโควิดทั่วโลกยังต่ำได้แค่ 6.5% ของประชากรโลก แนะต้องเร่งฉีดให้ได้วันละ 30 ล้านโดสภายใน 1 ปี ไปสู่เป้าหมายยุติโรค พร้อมยกเคส อิสราเอลฉีดสำเร็จ ยอดผู้ป่วยลดลงต่อเนื่อง

วันที่ 5 เมษายน 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วิกฤตโควิด 19 ขณะนี้มีผู้ป่วยทั้งสิ้นมากกว่า 120 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตเข้าสู่จำนวน 2.7 – 2.8 ล้านคนแล้วทั่วโลก นับเป็นวิกฤตที่สำคัญในรอบ 100 ปี ถ้าเราดูสถานการณ์ของโลกในวันนี้ จะเห็นว่าเดิมทีอยู่ในขาขึ้นมาตลอด จนกระทั่งหลังจากที่เริ่มมีวัคซีนใช้ เริ่มรณรงค์กันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 มีการฉีดกันมากขึ้นเรื่อย ๆ จำนวนผู้ป่วยจากเดิม 6-7 แสนคนต่อวัน มีแนวโน้มจะลดลงเหลือ 3-4 แสนคนต่อวัน

แต่ทั้งนี้ อัตราการฉีดวัคซีนของทั่วโลกไม่ได้มากกว่าที่คิด ขณะเดียวกันก็มีการระบาดอย่างหนัก
กับสายพันธุ์อังกฤษซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้เร็วและก็ติดต่อได้ง่าย ทำให้สายพันธุ์นี้ เมื่อเปรียบกับอัตราการฉีดวัคซีนแล้วไปเร็วกว่า มีการเข้าสู่อเมริกา ยุโรป ทำให้ในระยะหลังของจะเห็นว่าจำนวนผู้ป่วยต่อวันอยู่ในขาขึ้นใหม่ ขณะนี้ผู้ป่วยต่อวันขึ้นไปประมาณ 5-6 แสนคนอีกแล้ว และหลายประเทศก็ได้มีการล็อกดาวน์ ไม่ว่าจะฝรั่งเศส เยอรมัน แม้กระทั่งไทย หลังการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นแล้ว มาวัน 2 วันนี้มีการระบาดเกิดคลัสเตอร์ใหม่ไม่ว่าจะในสถานบันเทิง หรือเรือนจำ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องมานึกถึงแล้วว่า เราต่อสู้กับมันปีกว่าแล้ว การจะมองเห็นแสงให้โรคสงบไปได้ แน่อนคงไม่หนีเรื่องของวัคซีนที่จะนำมาใช้ในการป้องกันโรค

อัตราฉีดวัคซีนทั่วโลกยังต่ำ

การใช้วัคซีนของทั่วโลกเพิ่มขึ้นจริง แต่เมื่อเทียบกับประชากรโลกประมาณ 7 พันล้านคนถือว่าต่ำ ถ้าต้องการให้วัคซีนเพื่อให้โรคลดลงหรือยุติได้ต้องให้วัคซีนถึง 70% ของประชากร หรือต้องให้วัคซีนประมาณ 5 พันล้านคน ฉะนั้นวัคซีนที่ต้องใช้ในการยุติต้องไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านโดส ตอนนี้ยอดฉีดล่าสุดเมื่อวันที่ 4 เมษายน ทั่วโลกฉีดไปแล้วแค่ 650 ล้านโดสเท่านั้น เท่ากับฉีดไปแค่ 6.5% ของประชากรโลก ซึ่งอเมริกาฉีดมากสุด เกือบ 200 ล้านโดสแล้ว รองลงมาคือจีน อินเดีย อังกฤษ บราซิล ขณะที่การฉีดวันละ 15 ล้านโดส จะต้องใช้เวลาถึง 650 วัน หรือ 2 ปี ในการคุมโรคนี้ เพราะฉะนั้นจะต้องเร่งฉีดเพิ่มอีกเท่าตัวเป็นวันละ 30 ล้านโดส เพื่อให้ถึงเป้าหมายภายในปีเดียว

สำหรับประเทศไทย เราตั้งเป้าไว้ว่าภายในสิ้นปี 2564 นี้จะต้องบรรลุถึงเป้าหมายให้ได้ คือประชาชนส่วนใหญ่ต้องได้รับวัคซีนเพื่อให้มีภูมิป้องกันโรค ซึ่งมี 2 ทางคือ 1.ยอมเป็นโรค 2.ได้รับวัคซีนป้องกันโรค ถ้าให้เลือกผมเชื่อว่าทุกคนเลือกที่จะได้รับวัคซีนมากกว่าการยอมเป็นโรค

อิสราเอลฉีดวัคซีนสำเร็จ

ในประเทศที่ฉีดวัคซีนมาก ๆ เราจะเห็นผลกระทบที่ค่อนข้างชัดเจน อย่างประเทศที่ฉีดต่อประชากรสูง เช่น อิสราเอล ก็ฉีดให้ประชากรสูงที่สุดในโลก รองลงมาคือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ อังกฤษ ใน 3 ปะเทศนี้ จะเห็นว่าอิสราเอลใช้วัคซีนของไฟเซอร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ใช้ วัคซีนของจีน ชิโนฟาร์ม สปุตนิก อังกฤษใช้แอสตร้าเซนเนก้า

อย่างอิสราเอล เป็นประเทศเล็กก็จริง มีประชากรไม่ถึง 10 ล้านคน แล้วเป็นประเทศนำร่องในการฉีดวัคซีนหมู่มาก เราจะเห็นว่าเขาขึ้นทะเบียนวัคซีนได้ในวันที่ 11 ธันวาคม 2563 ในวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ก็เริ่มรณรงค์ให้วัคซีน กลุ่มแรกที่ให้คือผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง แล้วอีกกลุ่มที่รณรงค์ไปพร้อมกันคือบุคลากรทางการแพทย์ เมื่อได้วัคซีนมากพอ วันที่ 12 มกราคม 2564 ก็ขยายอายุลงมาจาก 65 ปีขึ้นไป เป็น 55-64 ปี ขยายอายุลงมาจนมาถึง 40 ปี ขึ้นไป และถึงกลุ่มวัยรุ่น เด็กนักเรียน หลังจากนั้น 4 กุมภาพันธ์ 2564 ทุกคนที่อายุ 16 ปีขึ้นไปให้มาฉีดวัคซีน ใครฉีดครบแล้วจะให้บัตรเขียว สามารถไปเที่ยวผับบาร์ กินอาหารในร้าน ดูหนังได้ เพราะต้องการรณรงค์ให้ทุกคนลดการแพร่กระจายโรค

ผลลัพธ์คือ ในช่วงรณรงค์ฉีดวัคซีนของอิสราเอลยังอยู่ในกราฟขาขึ้นมีผู้ป่วยสูงสุดถึง 6 พันรายต่อสัปดาห์ แต่ภายหลังฉีดไปแล้วง 14 วัน กราฟเริ่มลดลง เหลือจำนวนผู้ป่วยหลักร้อยต่อสัปดาห์ ส่วนอัตราการเสียชีวิตเหลือแค่หลักสิบจากที่พุ่งสูงเมื่อปีก่อน เห็นได้ชัดว่าถ้าวัคซีนสามารถฉีดได้ในประชาชนหมู่มาก ผลกระทบเห็นชัดเจนว่าโรคนี้จะสงบลงอย่างแน่นอน จึงอยากรณรงค์ให้คนไทยรับวัคซีนให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะเปิดประเทศได้ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยฉีดไปแล้ว 244,254 โดสครอบคลุมประชากรอย่างน้อย 0.4%

ฝรั่งเศส กังวลฉีดวัคซีน

ส่วนประเทศอังกฤษเขาก็รณรงค์ฉีดอย่างเดียว ยอดผู้ป่วยลดลง แต่ฝรั่งเศสกับเยอรมันฉีดแล้วหยุด เพราะกลัวอาการข้างเคียง กลัวอะไรต่าง ๆ มากมาย ในที่สุดฝรั่งเศสก็ถึงจุดพีคขึ้นใหม่จนได้ แล้วตอนนี้ต้องสั่งล็อกดาวน์ เราจะเห็นว่าถ้าเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยของอังกฤษกับฝรั่งเศสต่างกัน ในทำนองเดียวกันถ้าดูอัตราการเสียชีวิต อังกฤษเคยมีโรงพยาบาลไม่เพียงพอรักษาผู้ป่วย แต่หลังรณรงค์ฉีดวัคซีนอัตราการเสียชีวิตลดลงต่อเนื่องแม้ว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่ดูเหมือนว่าจะไม่มีผลกับวัคซีน ซึ่งตรงข้ามกับฝรั่งเศสปริมาณการฉีดค่อนข้างน้อยทำให้อัตราเสียชีวิตยังไม่ลดลง ยังคงที่

สำหรับอเมริกา พอขึ้นทะเบียนวัคซีนได้ ก็เริ่มรณรงค์ฉีด ก่อนหน้านี้มีคนไข้วันละเป็นแสน ตอนนี้คนไข้เริ่มลดลงเหลือ 5-6 หมื่นคนต่อวัน จะห็นว่าเขารณรงค์ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้วได้ 30% ของประชากร มีได้รับเข็มสองไปแล้วประมาณ 15% แต่อย่างไรก็ตาม ผลของการฉีดวัคซีนในคนหมู่มาก ในอเมริกาเองก็เริ่มเห็นผลว่าเริ่มลดลง เพราะเขาตั้งเป้าหมายในการฉีดวัคซีนให้ได้ประชากรครบตามเป้าหมายภายในเดือนพฤษภาคม จุดนี้เองเราถึงบอกว่าทำไมทุกประเทศต้องรณรงค์ในการฉีดวัคซีนให้มากสุด เมื่อได้วัคซีนแล้วผมคิดว่าเมื่อถึงคิวใครก็ต้องรีบไปรับ

ประสิทธิภาพของวัคซีน

วัคซีนเกือบทุกชนิดที่ใช้ในปัจจุบันนี้ เช่น จากจีน ซิโนฟาร์ม ไวรัสเวกเตอร์ ซิโนแวค ป้องกันอาการรุนแรงถึงกับต้องนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ประมาณ 100% วัคซีนทุกตัวไม่ว่าจะของอินเดีย บาห์รัท จอห์สัน โมเดอร์นา แอสตร้าเซนเนก้าป้องกันการเสียชีวิต หรือนอนโรงพยาบาลได้ในอัตราสูงมากทีเดียว ขอให้สบายใจได้ในประสิทธิภาพของวัคซีน แต่สิ่งที่คนกังวลมากคืออาการแทรกซ้อน วัคซีนเกือบทุกชนิดมีอาการแทรกซ้อนได้ แต่ส่วนใหญ่เป็นอาการข้างเคียงเฉพาะที่ เช่น ปวดเจ็บบริเวณฉีด อาจมีไข้1-2 วัน แค่กินยาพาราเซตามอลก็ลง อาการเหล่านี้ถือว่าไม่รุนแรง

โอกาสเกิดลิ่มเลือดแข็งตัวไม่ต่างกับเส้นประสาทอักเสบหลังฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

ประเทศยุโรปที่มีรายงานอาการลิ่มเลือดแข็งตัว ภายหลังฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเหตุการณ์เหล่านี้มันเกิดหลังฉีดวัคซีนจริง ๆ ถ้าเรามองย้อนดูข้อมูลต่าง ๆ เช่น ในอังกฤษ หลังฉีดวัคซีนไป 17 ล้านโดส โอกาสเกิดแทรกซ้อน มีผู้ป่วย 20 คน เสียชีวิตไป 7 คน ถ้ามองดูแล้วใน 7 คน โอกาสหรืออุบัติการเกิดลิ่มเลือดได้เท่ากับ 1 ใน 1.2 แสนโดส

เพราะฉะนั้นคงไม่ต่างกับการเกิดเส้นประสาทอักเสบหลังการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เพราะการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่อาการที่เรากลัวที่สุดคือเส้นประสาทอักเสบ โอกาสการเกิดประสาทอักเสบก็เกิด 1 ในแสนโดสเช่นกัน เขาบอกอีกว่าการเกิดลิ่มเลือดอุดตันนี้ในยุโรปอุบัติการณ์ที่เกิดคือ เกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แล้วก็เกิดในผู้อายุน้อยกว่า 55 ปี เป็นวัยเจริญพันธุ์หรือวัยที่มีฮอร์โมนสูง ไม่ว่าจะคนท้อง หรือคนที่กินยาคุมกำเนิด แน่นอนในอนาคตต้องมาพิจารณากันดูว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงจริงไหม ถ้าจริงเราอาจจะมีอะไรหลีกเลี่ยงได้ไหม ที่สำคัญเราต้องรอการพิสูจน์ก่อนว่าเกี่ยวข้องไหม ถ้าเกี่ยวข้องมีปัจจัยอะไรบ้าง เราต้องหลีกเลี่ยงอย่างไร

วัคซีนโควิดในภาวะฉุกเฉิน


วัคซีนถูกพัฒนามาเร็วมาก เรายังไม่มีเวลาดูว่าใช้วัคซีนไปแล้ว 1 ปีเป็นอย่างไร ขณะนี้วัคซีนที่ใช้ถ้าชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่ได้ กับความเสี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้นแน่นอนว่าถ้าดูอัตราที่ฉีดทั่วโลก ประโยชน์จึงมากกว่า ตอนนี้มีการฉีดในผู้ใหญ่จำนวนมาก ในอนาคตมองว่า กลุ่มประชากรเด็กก็ต้องได้รับวัคซีน ซึ่งขณะนี้มีการวิจัยจำนวนมากที่กำลังลดอายุ เพราะเรารู้ว่าเด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปีเป็นอีกกลุ่มที่จะแพร่เชื้อได้ง่าย เพราะโอกาสสังสรรค์มีเยอะ ตอนนี้จึงมีการศึกษาค่อนข้างมาก แล้วมีข้อมูลเริ่มออกมามากขึ้น แล้วภายในสิ้นปีนี้ผมเชื่อว่า เด็กกลุ่มต่อไป 6-12 ปีก็จะมีข้อมูลออกมาชัดเจนว่ากลุ่มนี้จะเป็นอีกกลุ่มนึงที่ได้รับวัคซีน และกลุ่มสุดท้ายที่จะศึกษาว่าควรได้รับวัคซีนคือเด็กเล็กต่ำกว่า 6 ปีลงไป กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มสุดท้ายเพราะว่าเมื่อเป็นโรคจะอาการไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่