สวช. ให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีน

FILE PHOTO: Oxford/AstraZeneca's COVID-19 vaccine at a vaccination centre in Antwerp
FILE PHOTO:REUTERS/Yves Herman/File Photo

สวช. ให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีนแต่ละกลุ่ม พร้อมย้ำการผลิตวัคซีนไทยเป็นไปตามแผน กำลังส่งไปให้สก็อตแลนด์และสหรัฐฯ ตรวจสอบคุณภาพ เพื่อส่งกลับมาฉีดต้นเดือน มิ.ย.

วันนี้ (8 เม.ย. 2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงรายงานจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของสหราชอาณาจักร (MHRA) และหน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพของยุโรป (EMA) เกี่ยวกับกรณีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า

“2 หน่วยงานสรุปว่า มีความเป็นไปได้ที่ผลข้างเตียงดังกล่าวอาจสัมพันธ์กับการได้รับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า แต่ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด ทั้งสองหน่วยงานจะตรวจสอบเพื่อหาหลักฐานยืนยัน ทั้งนี้มีข้อสังเกตว่า ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังการฉีดเข็มที่ 1 ถือเป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้น้อยมาก หรืออาจเกิดขึ้นในอัตรา 2 คน ต่อการฉีด 1 ล้านคน”

จากการรายงานก่อนหน้ามีระบุว่า อัตราการเกิดลิ่มเลือดยังสัมพันธ์กับประชากร เชื้อชาติ และวิถีชีวิตของประชาชน แต่ประเทศไทยและประเทศอื่นในแถบเอเชีย มีอัตราการเกิดลิ่มเลือดอุดตันต่ำกว่าประเทศในยุโรป ซึ่งทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติ รวมถึง อย. ได้มีการติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งใช้ประกาศจากองค์การอนามัยโลกประกอบด้วย เพื่อนำข้อมูลให้ผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทยได้แนะนำเพิ่มเติมในการใช้แต่ละกลุ่มต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้องค์การอนามัยโลกยังไม่ได้มีคำแนะนำให้หยุดฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า แต่หลายประเทศเลือกฉีดเฉพาะในผู้สูงอายุ ส่วนอังกฤษและประเทศในยุโรปมีการใช้วัคซีนนี้ไปแล้ว 40 ล้านโดส


นพ.นคร กล่าวด้วยว่า ตอนนี้การผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ทำได้เป็นอย่างดี และมีการดำเนินงานได้ตามแผนในแต่ละรอบการผลิต โดยผลิตครั้งละ 2,000 ลิตร และขณะนี้อยู่ระหว่างการส่งวัคซีนไปตรวจสอบคุณภาพยังห้องปฏิบัติการของแอสตร้าเซนเนก้า ในประเทศสก็อตแลนด์และสหรัฐอเมริกา คาดว่าผลจะทยอยส่งกลับมาราวกลางเดือนเมษายนนี้ ถึงจะสามารถส่งมอบวัคซีนให้ประเทศไทยล็อตแรกได้ตามแผนในต้นเดือนมิถุนายน 2564 เป็นจำนวนประมาณ 5-10 ล้านโดสต่อเดือน สอดคล้องกับแผนการกระจายวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข