แพทย์ ยันผู้ป่วยโควิดไม่สามารถรักษาตัวเองได้ที่บ้าน ต้องมา รพ. เท่านั้น

นพ.โอภาส
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

แพทย์ แจง ผู้ป่วยโควิดไม่สามารถรักษาตัวเองได้ที่บ้าน เหมือนกรณีต่างประเทศ ต้องมีแพทย์ดูแลเท่านั้น ยันโรงพยาบาลมีอุปกรณ์-เตียง-ยารักษา เพียงพอ ปลายเดือนมีแผนเจรจาซื้อวัคซีนเพิ่มอีก

วันนี้ 13 เมษายน 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีการเชิญชวนให้ผู้ที่ติดเชื้อได้รักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องออกไปพบแพทย์จะหายเอง เหมือนกรณีในต่างประเทศ ซึ่งกรณีนี้ยืนยันว่าทำไม่ได้ โดยมีเหตุผลดังนี้

  1. ผู้ที่ไม่มีอาการต้องมีแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดูแลใกล้ชิด เพราะบางกรณีผู้ติดเชื้อไม่มีอาการแล้วต่อมามีอาการปอดบวม แล้วลุกลามรุนแรงขยายตัวได้อยางรวดเร็ว ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดคิดว่าวันนี้ไม่มีอาการ ก็ไม่ได้หมายความว่า พรุ่งนี้จะไม่มีอาการแต่อย่างใด
  2. ผู้ติดเชื้อ มีเชื้อแพร่ออกมาทางระบบการหายใจ เวลาไอ จาม หรือพูดคุยกับคนอื่น เพราะฉะนั้นก็มีความเสี่ยงที่จะเอาเชื้อไปแพร่กระจายต่อได้ เพราะฉะนั้นการดูแลอย่างใกล้ชิดต่อตัวผู้ติดเชื้อเอง และควบคุมไม่ให้แพร่เชื้อต่อ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

นพ.โอภาส ยืนยันว่า ประเทศไทยเรามีเตียงเพียงพอ เรามีอุปกรณ์ต่าง ๆ เรามียาเพียงพอ เช่น ยาฟาริพิราเวียร์ องค์การเภสัชกรรม(จีพีโอ) ที่ใช้รักษาโรค เราก็ได้สำรองรับการระบาดโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ไว้กว่า 4.1 แสนเม็ด พร้อมสั่งซื้อเพิ่มอีก 5 แสนเม็ดแล้ว และบุคลากรก็เพียงพอ ไม่เหมือนกับหลายประเทศที่ผู้ติดเชื้อมาก จนดูแลไม่ไหว เขาถึงให้ไปดูแลที่บ้าน

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์วันนี้มีผู้ติดเชื้อใหม่ในรอบ 24 ชม. 965 ราย เป็นผู้มาจากการค้นหาเชิงรุก 302 ราย ระบบบริการ 654 ราย มาจากต่างประเทศอยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 9 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมระลอกใหม่ตอนนี้อยู่ที่ 5,597 ราย ซึ่งกรุงเทพฯ ยังอยู่อันดับหนึ่ง 1,625 ราย จากคลัสเตอร์สถานบันเทิง

ต่อด้วยเชียงใหม่ 880 ราย เนื่องจากมีการระบาดในกลุ่มนักศึกษาช่วงปิดเทอมทำกิจกรรมต่าง ๆ ชลบุรี 564 ราย สมุทรปราการ 408 ราย เชื่อมโยงสถานบันเทิงกรุงเทพฯ ฯลฯ

ทั้งนี้ มีผู้ติดเชื้อทั่วประเทศรวม 74 จังหวัด โดยจังหวัดเชียงใหม่ติดเชื้อมากที่สุด 251 ราย ตามด้วยกรุงเทพฯ 194 ราย และชลบุรี 97 ราย ซึ่งต้องจับตากรุงเทพฯ เชียงใหม่อย่างใกล้ชิดเพราะติดเชื้อวันละหลักร้อยราย ดังนั้นจึงขอเน้นย้ำให้งดกิจกรรมรวมตัว โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาและกลุ่มคนวัยทำงาน ที่มีอัตราการติดเชื้อสูงในขณะนี้

อย่างไรก็ตามจากการคาดการณ์ทางทฤษฎี ถ้าไม่มีมาตรการทำอะไรเลยภายใน 1 เดือนข้างหน้าจะมีการติดเชื้อถึงวันละ 9,000 ราย แต่เรามีการปิดสถานบันเทิง ประชาชนร่วมกันควบคุมโรค ตอนนี้ติดเชื้อวันละ 900 กว่าราย จึงต้องช่วยกันลดกิจกรรมการรวมตัวกันเราจะลดผู้ติดเชื้อให้เหลือ 500-600 รายต่อวัน ยิ่งหากมีการทำงานที่บ้านจะลดได้เฉลี่ยไม่ถึงวันละ 400 คน

หากมีการล็อกดาวน์เฉพาะจุด (Target lock down ) ก็จะติดเชื้อวันละ 100 คนต่อวัน ทั้งนี้มีคนถามจะล็อกดาวน์หรือไม่ ต้องขอเรียนว่าล็อกดาวน์เฉพาะจุดจะเป็นทางเลือกสุดท้าย ซึ่งเป็นมาตรการที่เราจะไล่ระดับไป

“นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังได้กำหนดมาตรการให้ภาครัฐและขอความร่วมมือภาคเอกชนนำมาตรการ Work from Home มาใช้แบบเต็มรูปแบบจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 30 เม.ย.”

ส่วนความก้าวหน้าการฉีดวัคซีนโควิด จำนวนผู้รับวัคซีนสะสม (28 ก.พ.-12 เม.ย. 2564) 578,532 โดส ในพื้นที่ 77 จังหวัด มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 505,215 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 73,317 ราย ถือว่าเราฉีดได้เร็วกว่าเป้าหมาย

ขณะที่วัคซีนซิโนแวคที่เพิ่งเข้ามา 1 ล้านโดสนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานเสร็จสิ้นแล้ว ตอนนี้รอเอกสารของประเทศจีนที่จะส่งมาให้ครบถ้วน จากนั้นกรมวิทย์ จะออกรายงานความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ก่อนเร่งกระจายออกไป เสร็จวันไหนกระจายวันนั้น ไม่เว้นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังเจรจาขอซื้อวัคซีนเพิ่มเติมอีกในปลายเดือนนี้ ขอให้รอฟังข่าวดีอีกครั้ง ซึ่งหากมีความคืบหน้าในเรื่องนี้จะรายงานให้ทราบต่อไป