โควิด กทม. “คลัสเตอร์เมษายน”ใกล้แตะ 2 พันราย ย้อนไทม์ไลน์พบสถานที่เสี่ยงเพียบ

covid-19

กทม.ติดโควิดเพิ่ม 351 ราย รวมคลัสเตอร์เมษายน 14 วัน ยอดสะสมพุ่ง 1,976 ราย เตียงไม่พอรับผู้ป่วย แนะวิธีปฎิบัติตัวเมื่ออยู่บ้าน คอนโด เปิดไทม์ไลน์ย้อนหลัง24 มี.ค.-2 เม.ย.พบสถานที่เสี่ยงเพียบ

แจ้งประชาชนหากยืนยันผลติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีเตียงในโรงพยาบาล โทรแจ้งสายด่วน 1668 ,1669 หรือ 1330 

เมื่อวันที่ 14 เม.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์การระบาดโควิด-ระลอกใหม่เดือนเม.ย.(คลัสเตอร์สถานบันเทิง) 

กทม.วันนี้ติดเพิ่ม 351 ราย

ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.)ในวันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 351 ราย รวมสะสมตั้งแต่วันที่ 1-14 เม.ย.2564 อยู่ที่ 1,976 ราย 

ทั้งนี้จากยอดผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงพยาบาลมีเตียงไม่เพียงพอจะรองรับรักษาตัว

เร่งบริหารเตียงไม่พอรับผู้ป่วย

ล่าสุดพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. เปิดเผยว่า กทม.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการเตียงในโรงพยาบาล เพื่อรองรับการนอนพักรักษาตัวสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กทม.

รวมทั้งการเน้นย้ำช่องทางในการติดต่อสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันผลติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีเตียงนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ผ่านสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 หรือสายด่วน สปสช.1330  ได้ตลอด 24 ชั่วโมง 

แนะการปฎิบัติตัวเมื่อป่วย

ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อจะต้องแยกตัวเองจากผู้อื่นเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งจากรายงานการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดพบว่า เชื้อที่อยู่ในตัวผู้ติดเชื้อมีความสามารถในการแพร่สู่ผู้อื่นภายในระยะเวลา 10 วัน เท่ากับว่าหลัง 10 วันเชื้อจะหมดความสามารถในการแพร่ แต่ยังสามารถอยู่ในตัวผู้ติดเชื้อได้ ซึ่งคำแนะนำคือสวมใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้สะอาด และเว้นระยะห่าง

กรณีอยู่บ้านกับครอบครัวใหญ่ ควรปฏิบัติ ดังนี้ แยกห้องนอนออกจากคนอื่นในบ้านให้เป็นสัดส่วน  ไม่กินอาหารร่วมกับผู้อื่นในบ้าน  แยกขยะ เพราะขยะจากผู้ติดเชื้อถือเป็นขยะติดเชื้อ  แยกห้องน้ำ หากไม่สามารถแยกห้องน้ำจริงๆ ให้ผู้ติดเชื้อใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และล้างห้องน้ำทุกครั้งหลังใช้ 

จุดที่ควรระวังมากเป็นพิเศษคืออ่างล้างหน้าและโถปัสสาวะ  กรณีอยู่บ้านคนเดียว หรือคอนโด ใช้ชีวิตได้ตามปกติภายในบ้าน ใช้บริการเดลิเวอรีได้ แต่ต้องใส่หน้ากาก หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับพนักงานที่มาส่ง และล้างมือบ่อยๆ  

สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่คอนโด ควรแจ้งนิติบุคคล หลีกเลี่ยงการใช้พื้นที่ส่วนกลาง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ  ให้ทุกคนในอาคารใส่หน้ากาก ล้างมือ และเว้นระยะห่าง  เจ้าหน้าที่นิติบุคคลให้เตรียมมาตรการและแจ้งลูกบ้านให้ระมัดระวัง ฉีดพ่นฆ่าเชื้อบริเวณส่วนกลาง รวมถึงการจัดการขยะติดเชื้อ 

นอกจากนี้ กทม.ได้ดำเนินการเตรียมพร้อมเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดในโรงพยาบาลสังกัด กทม.รวมทั้งจัดตั้งโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลโรงแรม (Hospitel) เพิ่มเติม 

โดยประสานความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการบริหารจัดการเตียงร่วมกันระหว่างเครือข่าย 5 หน่วยงาน ผ่านระบบคอมพิวเตอร์และอัปเดตข้อมูลทุกวัน เพื่อสร้างความอุ่นใจและความเชื่อมั่นให้ระบบการส่งต่อและดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดในพื้นที่กรุงเทพฯ 

เปิดสถานที่เสี่ยงเพียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้กทม.ยังได้อัพเดตไทม์ไลน์สถานที่เสี่ยงในพื้นที่กทม.ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.-วันที่ 2 เม.ย. 2564 ซึ่งพบว่ามีหลายแห่ง (ดูกราฟฟิค) อาทิ ศูนย์การค้า ร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงแรม วัด สนามแข่งรถ งานมอเตอร์โชว์ ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นต้น