โหนกระแส คุ้ยปม รพ.ปฏิเสธผู้ป่วยโควิด เชื้อลามคนในครอบครัวรวม 6 ราย

โหนกระแส

รายการโหนกระแส ชวนอธิบดีกรมการแพทย์-โฆษก กทม. ตอบปัญหา ผู้ป่วยร้องเรียน โรงพยาบาลปฏิเสธรับการรักษา จนทำให้คนในครอบครัวติดเชื้อรวม 6 คน

วันที่ 20 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายการโหนกระแส ที่มีนายกรรชัย กำเนิดพลอย หรือ “หนุ่ม” เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้เชิญ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เพื่อชี้แจงถึงประเด็นของเตียงผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19

“หนุ่ม” ได้ยกตัวอย่างข้อความที่มีผู้ชมส่งถึงรายการโหนกระแส โดยระบุว่า พบกรณีผู้ป่วยติดเชื้อเมื่อวันที่ 8 เมษายน จำนวน 1 ราย และได้แจ้งโรงพยาบาลแต่ทางโรงพยาบาลไม่รับรักษา โดยโรงพยาบาลแจ้งว่า เกินศักยภาพของหมอและโรงพยาบาล จนผ่านไป 10 วัน ส่งผลให้แพร่เชื้อสู่คนในครอบครัวทั้งสิ้น 6 คน

“หนุ่ม” จึงสอบถาม อธิบดีกรมการแพทย์ ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นดังกล่าว นายแพทย์สมศักดิ์ ระบุว่า กรณีดังกล่าว เราไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมด อย่างแรกเลยคือ ไม่ทราบว่าผู้ป่วยได้รับการตรวจจากที่ไหน ไม่แน่ใจว่า ได้โทรหรือส่งสบายดีบ็อต หรือไม่ ขณะที่ ทางทีมสาธารณสุขหรือทีมบริหารก็เป็นห่วง และมีคำแนะนำการแยกตัวที่บ้านจะทำอย่างไร

ด้าน ร.ต.อ.พงศกร กล่าวถึงกรณีดังกล่าวไปในทางเดียวกับ อธิบดีฯ ระบุว่า อย่างแรกต้องทราบว่า ผู้ป่วยไปรับการตรวจหาเชื้อที่ไหน ซึ่งหากเป็นโรงพยาบาลรัฐ แทบทุกกรณีในช่วงแรกจะมีปัญหา แต่ก็จะรีบส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลโดยใช้เวลาไม่นาน

สำหรับกรณีดังกล่าว ตนเข้าใจว่า น่าจะเป็นการตรวจจากโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งหากไม่ได้มีปัญหาเรื่องของ โรงพยาบาลสนามได้ หรือเรื่องของใบแลปก็สามารถมารักษาที่โรงพยาบาลรัฐได้

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาในเรื่องใบแลป ที่อาจจะได้มาจากการตรวจที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ทำให้ผลการตรวจอาจจะคลาดเคลื่อน

แนะโทรถาม “แลป” ได้มาตรฐานจากกรมวิทย์ฯ หรือไม่

เมื่อ “หนุ่ม” ถามว่า หากพูดเช่นนี้ อาจทำให้ประชาชนไม่กล้าไปตรวจแลปอื่น และจะมาตรวจแต่กับโรงพยาบาลรัฐหรือไม่

ร.ต.อ.พงศกร ระบุว่า ต้องเข้าใจก่อนว่า การตรวจแลป อย่างแรกต้องตรวจให้ถูกวิธี อย่างการตรวจ Rapid test ก็มีประสิทธิภาพระดับหนึ่ง แต่อาจจะต่ำกว่าการตรวจแบบ RT-PCR หรือ “การแยงจมูก” หากมีผลตรวจไม่ตรงกับความเป็นจริงจะทำให้เกิดความเสี่ยง เนื่องจากจะทำให้คนกลับไปใช้ชีวิตปกติ

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเสริมว่า ขณะนี้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์ ออกประกาศ รับรองมาตรการแลปตรวจหาเชื้อ จึงอยากให้โทรสอบถามก่อนไปรับการตรวจว่า แลปดังกล่าวได้มาตรฐานจากกรมวิทย์ฯ หรือผูกกับโรงพยาบาลหรือไม่

ผู้ป่วยปฏิเสธ รพ.สนาม ที่เสนอให้

“หนุ่ม” ถามต่อว่า เคยเกิดกรณีที่ผู้ป่วยปฏิเสธที่จะรับการรักษาในโรงพยาบาลที่ทางกรมการแพทย์ได้เสนอให้

อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า มี และได้เผยข้อมูลจากศูนย์บริการหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยชาวไทย โดยพบว่า ผู้ป่วยไม่มีอาการรุนแรง จำนวน 148 ราย มีทั้งสิ้น 74 ราย ที่ไม่ประสงค์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

“หาเตียงให้เรียบร้อย แต่ไม่ไปรับการรักษา เนื่องจากส่วนใหญ่เป็น Hospitel ที่โรงพยาบาลรัฐจัดหาให้”