“โรงพยาบาลสนาม” เรื่องควรรู้ ข้อปฏิบัติ เมื่อติดโควิด-19 แล้วต้องเข้าพัก

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรงพยาบาลสนาม

ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต้องทราบ! 4 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรงพยาบาลสนาม รวมถึงข้อปฏิบัติเมื่อต้องเข้าพัก มีอะไรบ้าง เช็กเลย

วันที่ 22 เมษายน 2564 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ข้อมูล เรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรงพยาบาลสนาม เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย 4 เรื่อง ดังนี้

  1. พักรักษาผู้ป่วย: เป็นสถานที่พักรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วเท่านั้น ไม่มีการตรวจคัดกรองโรค การตรวจคัดกรองโรคต้องทำที่สถานพยาบาลทั่วไป
  2. ไม่มีอาการหรือเบา: เป็นสถานที่กักตัวสำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์และชุมชน ทั้งช่วยลดภาระเตียงในโรงพยาบาลต่าง ๆ
  3. ส่งต่อจากโรงพยาบาล: รับเฉพาะผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากสถานพยาบาลทั่วไปเท่านั้น ผู้ป่วยไม่สามารถขอเข้าพักที่โรงพยาบาลสนามได้เอง
  4. เป็นทางเลือก “หนึ่ง”: โรงพยาบาลสนามไม่ใช่ทางเลือกทดแทนสถานพยาบาลทั่วไปเพียงทางเดียว ผู้ป่วยสามารถเลือกพักรักษาใน Hospitel

ข้อปฏิบัติเมื่อผู้ป่วยโควิด-19 ต้องเข้าพักในโรงพยาบาลสนาม

  1. จัดเตรียมอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวมาเองเช่น ช้อนส้อม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ยาสระผม ผ้าเช็ดตัว ยาประจำตัว และชุดเสื้อผ้าตามความเหมาะสม (บางโรงพยาบาลสนาม อาจมีการเตรียมชุดให้)
  2. สิ่งที่ห้ามนำเข้ามาในที่พัก เช่น อุปกรณ์การเล่นการพนัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติด อาวุธ และของมีคม
  3. ห้ามนำเครื่องดื่มและอาหารทุกชนิดเข้ามาในที่พัก โรงพยาบาลสนามมีการเตรียมอาหารที่เพียงพอให้ครบทั้ง 3 มื้อ การส่งอาหารจากภายนอก ขึ้นกับข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละโรงพยาบาล
  4. ไม่ควรนำของมีค่าติดตัวมาด้วย
  5. ให้พักในอาคารตลอดเวลา และไม่ให้ออกจากที่พัก ยกเว้นในบริเวณที่มีการกำหนดไว้ให้
  6. ห้ามย้าย สลับ หรือแลกเตียง
  7. ควรพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อพักฟื้นร่างกาย
  8. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
  9. อาบน้ำและเปลี่ยนชุดใหม่ทุกวัน
  10. ทิ้งขยะในถังขยะที่จัดวางไว้และปิดฝาทุกครั้ง
  11. งดการรับประทานอาหารร่วมกันรวมถึงการพูดคุยระยะใกล้ชิด หรือการจับกลุ่มทำกิจกรรม
  12. ร่วมกันรักษาความสะอาดและทำความสะอาดบริเวณที่พัก
  13. เมื่อมีอาการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเช่น มีไข้สูง ไอมากขึ้น เหนื่อยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทันที

ข้อมูล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ที่มา : รศ. นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์