สธ. เปิด 3 แนวทาง จัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่ม 35 ล้านโดส

กระทรวงสาธารณสุข เผย แนวทางการเจรจาวัคซีนโควิดเพิ่ม 35 ล้านโดส ครอบคลุมครบ 100 ล้านโดสให้ประชาชนไทย

วันที่ 22 เม.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงแผนจัดหาวัตซีนว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะทำงานพิจารณาแนวทางการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของไทย มีทั้งรัฐ เอกชน สภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุม โดยมี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธาน โดยมีข้อสรุปว่าต้องการฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชนไทยมากขึ้นจากเดิมตั้งเป้า 70 ล้านโดส เพิ่มเป็น 100 ล้านโดส ขณะนี้มีวัคซีนแล้วประมาณ 65 ล้านโดส ฉะนั้นก็ได้ข้อพิจารณาว่าต้องจัดหามาอีก 35 ล้านโดส โดยมี 3 แนวทางคือ

1. ให้ภาครัฐ โดย สธ.และองค์การเภสัชกรรม ไปเจรจาจัดซื้อเพิ่มเติม ขณะนี้มีความก้าวหน้าไปแล้วหลายบริษัท

2.ภาคเอกชนโดยหอการค้า ยินดีที่จะบริจาคเงินซื้อวัคซีนให้กับรัฐบาลนำไปซื้อและฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายเช่น คนในโรงงานประมาณ 10 ล้านโดส

3.โรงพยาบาลเอกชนเสนอว่าจะขอจัดซื้อเอง แล้วเอาไปฉีดให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย เช่น คนที่มีโรคประจำตัวในโรงพยาบาล แต่ทั้งนี้การฉีดวัคซีนต้องอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน ต้องมีเรื่องความปลอดภัยที่กรมควบคุมโรคกำหนด และระบบรายงานต้องเชื่อมต่อกัน ที่สำคัญคือการออกหนังสือรับรองฉีดวัคซีน เพื่อเดินทางไปต่างประเทศจะต้องตรงกัน และมีระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์จะได้เป็นสัญญาณเตือนภัยเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน

“โดยทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน คือ 1. ต้องมีระบบการดูแลเรื่องความปลอดภัยตามเกณฑ์ที่กรมควบคุมโรคกำหนด 2.ต้องมีระบบรายงานที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งอีกเรื่องที่สำคัญ คือ การออกหนังสือการฉีดวัคซีน สำหรับใช้เดินทางไปต่างประเทศ ต้องมีความเชื่อมโยงกัน 3.ต้องมีระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน เพื่อเป็นระบบเตือนเรื่องความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งภาคเอกชนก็เห็นพร้องต้องกัน

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนไปแล้วเกือบ 1 ล้านโดส ภาคเอกชนมาร่วมฉีดเยอะ อย่าง กทม. หรือการฉีดให้กับบุคลากรสาธารณสุขทั้งรัฐและเอกชน ก็ล้วนเป็นความร่วมมือที่ดีเพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนครบถ้วน

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ตอนนี้เรามีการเจรจาอยู่หลายเจ้า ซึ่งหลักในการพิจารณาคือจะได้วัคซีนเมื่อไหร่ ราคาเท่าไหร่ และต้องมีแผนการจัดส่งที่ชัดเจน รวมถึงการพิจารณาความครอบคลุมต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ด้วย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่เราไม่ได้ซื้อมาเยอะๆ ทีเดียว เชื้อไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งนี้การจัดหาวัคซีนในระยะต่อไปต้องนำประเด็นเรื่องเชื้อกลายพันธุ์มาพิจารณาร่วมด้วย เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคใหม่ และวัคซีนโควิด19 ที่มีอยู่ในท้องตลาดก็ยังเป็นวัคซีนใหม่ ที่ยังต้องมีการปรับพัฒนาวิจัยวัคซีนโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

ส่วนกรณีที่รพ.เอกชนไปเจรจาซื้อเองนั้น ต้องชี้แจงก่อนว่า เนื่องจากวัคซีนไม่ใช่สินค้าที่มีในท้องตลาด ดังนั้นต้องเจรจากับบริษัทผลิต ซึ่งเขาจะขายผ่านหน่วยงานรัฐ ดังนั้นหากภาคเอกชนไปเจรจามาได้ แล้วองค์การเภสัชกรรมก็จะเป็นผู้รับรองการซื้อให้ ยกเว้นว่าเอกชนจะมาขึ้นทะเบียนและนำเข้าเอง ก็ไม่ต้องซื้อผ่านองค์การเภสัชฯ แต่ที่ผ่านมาก็เห็นอยู่ว่าไม่มีใครมาขึ้นทะเบียน ส่วนเรื่องราคาที่จะคิดกับประชาชนที่มารับบริการฉีดที่รพ.เอกชนนั้น ที่ประชุมได้มีการหารือเช่นกันว่าในยามนี้ไม่ควรจะเก็บจากประชาชนแพง ดังนั้น จึงมอบให้กระทรวงพาณิชย์ไปดูแลเรื่องการกำหนดราคาวัคซีน ซึ่งตนไม่ทราบในรายละเอียดว่าจะกำหนดเท่าไหร่ หรือต้องมีเพดานราคาเท่าไหร่

สถานการณ์ฉีดวัคซีน

สำหรับสถานการณ์ฉีดวัคซีนในรอบ 24 ชม.ที่ผ่านมามีการฉีดไปแล้ว 152,230 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 141,670 เข็ม 2 จำนวน 10,560 ราย ทำให้มียอดรวมการฉีดนับตั้งแต่ 28 ก.พ. 2564 เป็น 864,840 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 746,617 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 118,223 ราย ก็ขอให้มั่นใจว่าเมื่อวัคซีนเข้ามาตามแผนล็อตใหญ่เดือน มิ.ย. 60 ล้านโดส จากนั้นจะกระจายฉีด 10 ล้านโดสต่อเดือนให้ได้ตามเป้า

ผลตรวจสอบวัคซีนกรณีผลข้างเคียง 6 ราย ที่ระยอง

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีอาการผู้ป่วยที่แพ้รุนแรง 6 รายที่ จ.ระยอง หลังจากได้รับวัคซีน เบื้องต้นอาการกลับมาเป็นปกติแล้ว และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำล็อตดังกล่าว คือ J202103001 ไปตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ ผลตรวจสอบ ยังไม่พบความผิดปกติ โดยวัคซีนในล็อตดังกล่าว ได้ฉีดไปแล้ว 300,000 ราย ยังไม่พบความผิดปกติอะไรเพิ่มเติม รวมถึงการตรวจสอบระบบลูกโซ่ความเย็นก็ปกติ ได้มาตรฐาน ซึ่งทางคณะกรรมการได้แนะนำให้มีการฉีดวัคซีนต่อไปได้ แต่ให้ระมัดระวัง รวมถึงให้ความรู้กับผู้ที่รับวัคซีนและเคร่งครัดในเรื่องของการฉีด


อย่างไรก็ตามในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข EOC) ก็มีข้อสรุปให้ฉีดวัคซีนต่อไป แต่ต้องเคร่งครัดการฉีดวัคซีนตามมาตรฐาน ส่วนบางคนสังเกตว่า อาจเกี่ยวกับความเครียด หรือมีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ ก็แนะนำให้นำการประเมินสุขภาพจิตมาประกอบในการฉีดวัคซีน