กทม.ขยายเตียง ICU เพิ่ม Hospitel 8,000 เตียง รับผู้ป่วยโควิด

ผอ.การแพทย์ กทม.เคลียร์ปมปัญหาเตียงไม่พอ ชี้ กทม.รับเคสผู้ป่วยโซนเขียว ส่วนผู้ป่วยหนักเหลือง-แดงเป็นหน้าที่ “สาธารณสุข” เผยสั่ง รพ.สังกัดเพิ่มเตียงผู้ป่วยโซนเหลืองอีก 80 เตียง โซนแดง 10 เตียง พร้อมสั่ง รพ.สนามรับผู้ติดเชื้อโซนเขียวทุกความเสี่ยงไม่ต้องแบ่ง ขออีก 2 สัปดาห์ เปิด Hospitel ครบ 8,000 เตียง

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2564 นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จำนวนเตียงผู้ป่วยที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงเมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 ว่า ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีจำนวนเตียงรวม 16,422 เตียงนั้น

ขอ 2 สัปดาห์เปิด Hospitel ให้ครบ

ในจำนวนนี้มีเตียงผู้ป่วยรวมในเขต กทม. 11,600 เตียง โดยรวมแล้วทั้งเตียงในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนาม ขณะนี้ยังมีจำนวนเตียงที่มีว่างน้อยกว่าที่แถลงจริง

เนื่องจากส่วนหนึ่งยังอยู่ในแผนที่จะทยอยเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งเตียงประเภทนี้จะอยู่ในโรงพยาบาลสนามและหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) ซึ่งตามตัวเลขที่ระบุไว้ตอนนี้ 8,000 เตียง ขณะนี้มีว่างจริง ๆ 6,000 เตียง ส่วนที่เหลือคาดว่าใน 1-2 สัปดาห์นี้จะทยอยเปิดเพิ่มได้ ให้ครบ

หมอรับผู้ป่วยทีเดียวเป็นหลาย 100 คนไม่ไหว

ทั้งนี้มีข้อจำกัดที่ทำให้ตัวเลขไม่ตรงกันคือ ทางผู้ประกอบการที่เข้าร่วมเป็น Hospitel ต้องตรวจความพร้อมของสถานที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และทางรัฐเองบุคลากรทางการแพทย์ก็มีจำกัด ต้องทยอยตรวจและรับคนไข้ เช่น มี Hospitel ที่รับคนไข้ได้ 200 เตียง อยู่ได้ 200-400 คน หมอไม่สามารถรับทีเดียวได้ 200-400 คน ต้องทยอยตรวจและเช็กประวัติ ซึ่งทำได้สูงสุด 20-30 คน/วันเท่านั้น

ชี้ข้อจำกัด รพ.สนาม-Hospitel

ส่วนโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel โดยทั่วไปก็กำลังเจอปัญหา จากข้อจำกัดที่ต้องรับเฉพาะผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อายุระหว่าง 18-50 ปี ไม่มีโรคประจำตัว และผลตรวจเอกซเรย์ต้องปกติเท่านั้น

“ทำให้ปัญหาที่พบในตอนนี้จะเป็นผู้ที่ติดเชื้อแบบไม่มีอาการป่วย แต่ไม่สามารถรับเข้ามากักตัวที่โรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel ได้เพราะติดเงื่อนไขบางอย่าง“

อย่างเช่น กลุ่มไม่แสดงอาการแต่อายุน้อยกว่า 18 ปี, กลุ่มที่ไม่มีอาการแต่อายุมากกว่า 50 ปี, กลุ่มไม่มีอาการแต่มีโรคประจำตัว, กลุ่มไม่มีอาการแต่มีภาวะอ้วน และกลุ่มไม่มีอาการแต่มีภาวะตั้งครรภ์ เป็นต้น

เมื่อโรงพยาบาลสนามและ Hospitel รับคนกลุ่มนี้ไม่ได้ ก็จะพากันไปที่โรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งเตียงก็ไม่พอแน่นอน เพราะต้องเอาไว้ใช้กับผู้ป่วยในระดับสีเหลือง (ปานกลาง) และสีแดง (อาการหนัก) ที่มีจำนวนมากอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนโรงพยาบาลสนามของ กทม.ที่เอราวัณ 1 (ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เขตบางบอน) และเอราวัณ 2 (สนามกีฬาบางกอกอารีนา เขตหนองจอก) ได้ยกเว้นกฎนี้แล้ว

แจงเคสอาม่าตายคาบ้านอยู่โซนแดง-เหลือง

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดกรณีที่มีอาม่าติดโควิด-19 ทั้งครอบครัว แล้วเสียชีวิตที่บ้าน 1 รายหรือไม่ ผอ.สำนักการแพทย์บอกว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของอาม่าท่านนี้ก่อน

“ในข้อเท็จจริงแล้ว กทม.ได้แบ่งการจัดการผู้ป่วยจากกระทรวงสาธารณสุข โดยได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเฉพาะกรณีการตรวจเชิงรุกในชุมชนและผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในระดับสีเขียวเท่านั้น หากผู้ป่วยมีอาการเพิ่มจากสีเขียวเป็นสีอื่น ๆ กทม.จะเข้าไปดูแลไม่ได้“

“สาธารณสุข” ดูเคสผู้ป่วยโซนเหลือง-แดง

ส่วนเคสจากการพบผู้ติดเชื้อในโรงพยาบาลและจากการรักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข เอกชน และโรงพยาบาลของกองทัพ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ดูแลหลัก โดยขณะนี้มีผู้ติดเชื้อที่รออยู่ตามบ้านประมาณ 1,900 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อสีเขียวที่ กทม.รับไปแล้ว 378 ราย

สั่ง รพ.กทม. เพิ่มเตียงโซนเหลือง 80 เตียง

ทั้งนี้ มีการหารือกันกับหน่วยงานต่าง ๆ แล้วว่า ทุกหน่วยงานจะต้องแบ่งเบาภาระผู้ป่วยโซนสีเหลืองและสีแดงมากขึ้น โดยแนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตอนนี้คือ หอผู้ป่วยในแต่ละโรงพยาบาลจะต้องเพิ่มแผนกไอซียูมากขึ้นเท่าที่ทำได้

ในส่วนของโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ทั้ง 10 แห่ง ได้ขยายเตียงรองรับผู้ป่วยโซนสีเหลืองก่อน 80 เตียง แบ่งเป็นโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน 30 เตียง, โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ 30 เตียง และโรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์อีก 20 เตียง และมีแผนจะขยายเพิ่มอีก 70 เตียงที่โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนอีก


ส่วนผู้ป่วยโซนสีแดง มีแผนจะขยายเตียงก่อน 10 กว่าเตียง เป็น 16 เตียง ซึ่งโรงพยาบาลในสังกัด กทม. มีประสิทธิภาพรับได้เท่านี้จริง ๆ ที่เหลือต้องติดต่อไปที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ขณะที่แนวคิดการตั้งแผนกไอซียูในโรงพยาบาลสนาม อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันอยู่