สบส. พบสถานพยาบาล 12 แห่ง ไม่รายงาน-ไม่หาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด

โควิด 2019

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เข้มมาตรฐานสถานพยาบาลเอกชนตรวจหาเชื้อโควิด 19 ต้องได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์-เชื่อมโยงสถานพยาบาลเพื่อส่งต่อผู้ป่วย เผยที่ผ่านมาพบร้องเรียน 12 แห่ง ไม่ส่งข้อมูล ไม่หาเตียงให้ผู้ป่วย เตรียมเอาผิดตามกฏหมาย

วันที่ 26 เม.ย. 64 ในแถลงข่าวสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา2019 กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กล่าวว่า กรณีประชาชนไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่แล็บของโรงพยาบาลเอกชน หรือคลินิกเอกชน ขณะนี้เรามีคลินิกตรวจหาเชื้อที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งสิ้น 279 แห่ง เป็นภาครัฐ 176 แห่ง เอกชน 103 แห่ง ในจำนวนนี้อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 109 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นภาคเอกชน และมีคลินิกแล็บใหญ่ๆ 14 แห่ง ที่ประชาชนนิยมไป

ซึ่งก่อนหน้านี้ กรม สบส. เคยออกประกาศ แนวทางเพื่อให้คลินิกต่างๆ ดำเนินการ คือ

1.ก่อนตรวจผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อ จะต้องเป็นคลินิกที่ได้รับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

2.คัดกรองความเสี่ยงว่า ควรจะตรวจหรือไม่ และให้คำแนะนำผู้รับบริการก่อนตรวจว่า หากมีผลบวกต้องทำอย่างไร

3.หากผลตรวจเป็นบวก จะต้องแจ้งผู้รับบริการ แจ้งหน่วยควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง เช่น ในกรุงเทพฯ แจ้งที่สำนักงานป้องกันและควบคุมโรคเขตเมือง ต่อมาให้แจ้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อลงข้อมูลในระบบ รวบรวมจำนวนผู้ติดเชื้อ

และในประกาศใหม่ได้ระบุว่า คลินิกแล็บทุกแห่ง ต้องมีข้อสัญญากับสถานพยาบาล เพื่อส่งต่อผู้ป่วยได้ ซึ่งจะเป็นหลักประกันให้คนไข้ หรือหากเตียงเต็มก็ต้องเร่งประสานเตียงต่อ แต่หากไม่ได้ก็ต้องรายงานต่อผู้อนุญาตแต่ละพื้นที่

จากการตรวจสอบในคลินิกแล็บ 14 แห่งใหญ่ของกรุงเทพฯ พบว่ามี 11 แห่ง ที่มีสถานพยาบาลเอกชนเป็นคู่สัญญาแล้ว และอีก 3 แห่ง อยู่ในระหว่างดำเนินการ ประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ในเว็บไซต์ของของกรม สบส.

จ่อเอาผิด สถานพยาบาลเอกชน 12 แห่ง

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า หลังสิ้นสุดวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายของประชาชนจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของโรคโควิดในหลายพื้นที่ ซึ่งประชาชนบางส่วนที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หรืออยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับการระบาดของโรคย่อมเกิดความวิตกกังวลว่าตนจะได้รับเชื้อ หรือเป็นพาหะนำโรคติดต่อไปยังบุคคลใกล้ชิด ทำให้ความต้องการตรวจคัดกรองโรคโควิดในสถานพยาบาลเอกชนเพิ่มมากขึ้น กรม สบส.จึงมีนโยบายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ กวดขัน ดูแลการดำเนินการของสถานพยาบาลเอกชนอย่างใกล้ชิด หากมีข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิดต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วเพื่อคุ้มครองประชาชนให้ได้รับบริการตรวจคัดกรอง และดูแล รักษาพยาบาลในกรณีการเจ็บป่วยด้วยโรคโควิดที่ถูกต้อง เหมาะสม

โดยที่ผ่านมากรม สบส.ได้รับข้อร้องเรียนคลินิก แล็บ โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งระหว่างวันที่ 15 – 22 เม.ย. 2564 พนักงานเจ้าหน้าที่ ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงข้อร้องเรียนจากการให้บริการตรวจรักษาโรคโควิดในสถานพยาบาลเอกชนจำนวน 12 แห่ง ใน 3 ประเด็น คือ 1)การไม่จัดหาสถานพยาบาลเพื่อส่งต่อผู้ป่วยโควิด 19 2) ไม่รายงานการพบผู้ป่วยไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ3) การโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุมัติ

“ในการดำเนินการตามประเด็นที่ 1 และ 2 กรม สบส.ได้มีคำสั่งทางการปกครองตามมาตรา 49 ของพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ไปยังสถานพยาบาลข้างต้นเพื่อให้ปฏิบัติตามให้ถูกต้อง หากไม่ปฏิบัติตามก็จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 36 ซึ่งผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รวมถึงอาจมีคำสั่งให้พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตสถานพยาบาล และในส่วนประเด็นการโฆษณาก็ได้มีคำสั่งให้ระงับการโฆษณาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า นอกจากการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว เมื่อวันที่ 23-25 เมษายน ที่ผ่านมา คณะผู้บริหาร และพนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังได้ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และให้คำแนะนำข้อกฎหมายแก่ห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อไวรัสโควิดของคลินิกเอกชนในเขตกรุงเทพฯ ทั้ง 15 แห่ง โดยได้หารือ และร่วมรับฟังข้อคิดเห็น และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานจาก ผู้ประกอบกิจการโดยตรง ซึ่งกรม สบส.จะนำข้อมูลที่ได้รับมาพัฒนาข้อกฎหมายและรูปแบบการดำเนินงานให้สอดคล้อง เหมาะสม และเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป


ทั้งนี้ หากประชาชน มีข้อร้องเรียนการให้บริการของโรงพยาบาลเอกชน-คลินิก หรือสถานพยาบาลเอกชนแห่งใด ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สายด่วน กรม สบส.1426 ในวันและเวลาราชการ