รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยจำนวนเตียงว่าง พร้อมระบุวิธีการจัดการกรณีไอซียูไม่พอ เพื่อไขข้อสงสัยของประชาชน กรณีมีเตียงว่างแต่เหตุใดมีคนไข้รอเตียง
วันนี้ (27 เม.ย. 2564) เวลา 15.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงเกี่ยวกับการบริหารจัดเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อไขข้อสงสัยของประชาชนกรณี มีเตียงว่างแต่เหตุใดมีคนไข้รอเตียง โดยระบุว่า สธ. เป็นเจ้าภาพรวมจำนวนเตียง และจำนวนผู้ป่วยที่รับการรักษาในโรงพยาบาล โดยได้ขอให้ทุกโรงพยาบาลส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์มาที่ส่วนกลางทุกวัน และแบ่งเป็น 13 เขตสุขภาพ
สำหรับสถานการณ์เตียง ณ วันที่ 26 เม.ย. 2564 เวลา 16.30 น. มีเตียงทั้งหมด 44,560 เตียง ครองเตียงทั้งหมด 21,695 เตียง ส่วน กทม. (เขตสุขภาพที่ 13) มีเตียงทั้งหมด 12,679 เตียง อัตราครองเตียง 7,959 เตียง เตียงว่าง 4,720 เตียง
จำนวนเตียงที่มีเหลืออยู่ใน กทม. ส่วนใหญ่เป็นของภาคเอกชน เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีจำนวนมากสุดในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล จำนวนเตียงว่าง 1.2 หมื่นเตียง เป็นของเอกชนกว่า 8,306 เตียง เหตุที่ยังเข้าไปใช้ไม่ได้เพราะต้องทยอยเอาคนไข้เข้าไปเพื่อความปลอดภัย และต้องมีการประเมินอาการผู้ป่วย และในฮอสพิเทล หากผู้ป่วนมีอาการเปลี่ยนแปลงต้องมีโรงพยาบาล หลักมารับได้ทันที หรือมีระบบเครือข่ายเพื่อส่งต่อ
ทั้งนี้ ประเภทเตียงที่มีอยู่แบ่งเป็น เตียงของห้องความดันลบ (AIIR-ICU) และเตียงของห้อง modified AIIR เพื่อดูแลผู้ป่วยหนัก โดย 2 แบบนี้มีผู้ป่วยครองเตียงแล้ว 70-80% และไม่มีเหลือให้ผู้ป่วยรายใหม่
“วิธีจัดการคือ การนำผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้อง AIIR-ICU และ modified AIIR ออกมาอยู่หอผู้ป่วยสามัญมากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยที่จำเป็นจริง ๆ มาอยู่ ส่วนห้องประเภทต่าง ๆ ของโรงพยาบาลสนาม และฮอสพิเทล ยังมีเตียงว่างอยู่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว”
ใน กทม. และปริมณฑลประมาณ จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่องไอซียู ถึงจะไม่สามารถทำได้ทันที แต่สามารถปรับหอผู้ป่วยภายในให้คล้ายไอซียูได้ ตอนนี้โรงพยาบาลหลายแห่งได้เริ่มทำแล้ว
นพ.ณัฐพงศ์ อธิบายต่อว่า ในกระบวนการนำผู้ป่วยไม่มีอาการหรือเพิ่งตรวจพบเชื้อโควิด-19 เข้าสู่กระบวนการรักษา ให้ผู้ป่วยที่มีอาการมากเข้ารับการรักษาก่อน ส่วนคนที่มีอาการที่รอได้จะเป็นกระบวนการถัดมา สำหรับฮอสพิเทลของภาคเอกชน ใช้รับผู้ป่วยอาการน้อย หรือไม่มีอาการไปพัก ห้องละไม่เกิน 2 คน หรือรับเป็นครอบครัว และหากใครต้องไปอยู่โรงพยาบาลสนาม ขออย่าปฏิเสธ เพราะมีระบบทางการแพทย์เพรียบพร้อมเท่ากับโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เช่นกัน
ส่วนคำถามว่า หากไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลหนึ่ง แต่อยากไปรักษาอีกโรงพยาบาลทำได้หรือไม่ นพ.ณัฐพงศ์ ตอบว่า หากอาการไม่มากสามารถรักษาได้ในโรงพยาบาลทุกระดับ แม้แต่โรงพยาบาลสนาม แต่หากมีอาการหนัก มีโรคซับซ้อน สามารถส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีแพทย์เชี่ยวชาญกว่าได้
ตอนนี้โรงพยาบาลภาครัฐใน กทม. แบ่งออกเป็น 6 โซน ได้แก่
โซนที่ 1 มีโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลราชวิถี เป็นหัวหน้าโซน เพื่อช่วยดูโรงพยาบาลเล็กในโซนนั้น
โซนที่ 2 (โซนใต้) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
โซนที่ 3 (โซนเหนือ) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลภูมิพล
โซนที่ 4 (โซนตะวันออก) โรงพยาบาลรามาธิบดี
โซนที่ 5 โรงพยาบาลศิริราช
โซนที่ 6 โรงพยาบาลวชิรพยาบาล
ส่วนภาคเอกชน มีโรงพยาบาลเครือใหญ่ ๆ เช่น สมิติเวช เกษมราษฎร์ กรุงเทพ ซึ่งมีระบบดูแลโรงพยาบาลในเครือกันเอง และหากมีความจำเป็นต้องข้ามโซนก็จะประสานมาศูนย์บริหารจัดการที่โรงพยาบาลราชวิถี