สธ.ประสาน แล็บเอกชน ส่งผู้ติดเชื้อโควิดเข้ารักษาตัวเร็วขึ้น

สาธิต ปิตุเตชะ
สาธิต ปิตุเตชะ

กระทรวงสาธารณสุข ประสานแล็บเอกชน รายงานผลตรวจเชื้อโควิดเข้าระบบ 1668 เพื่อส่งต่อผู้ป่วยได้เร็วขึ้น หลังประสบปัญหาจัดหาเตียงในช่วงก่อนหน้านี้

วันที่ 3 พ.ค. 2564 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการบริหารจัดการเตียงขัดข้องเนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในระดับสูงขึ้น โดยเฉพาะช่องทางการตรวจพบเชื้อจากแล็บตรวจของเอกชน ที่ได้รับการอนุญาตจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อแล้ว แต่ไม่สามารถหาโรงพยาบาลเข้ารักษาได้ โดยเดิมได้ให้แล็บเหล่านี้จับคู่กับโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐ หรือ โรงพยาบาลเอกชน แต่ก็มีข้อจำกัดโรงพยาบาลมีจำนวนผู้ป่วยหนาแน่นจึงทำให้มีปัญหาเรื่องเตียงบ้าง

ล่าสุดกรมการแพทย์ได้ประชุมหารือร่วมกับแล็บในกรุงเทพฯ ที่ได้รับอนุญาตจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทำข้อตกลงกันเพื่อให้แล็บเดินหน้าตรวจต่อไปได้ โดยได้จับคู่กับแล็บในกรุงเทพทั้งหมดเมื่อมีการตรวจเชื้อเสร็จให้แล็บส่งข้อมูลไปยังระบบของสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และกรมการแพทย์ 1668 เพื่อจัดหาโรงพยาบาลในการรักษาได้โดยเร็ว ไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา คือตรวจแล้วแต่ไม่มีโรงพยาบาลรองรับ ต้องกลับไปนอนที่บ้านเพื่อรอเตียง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงการแพร่ระบาดในชุมชนได้

ทั้งนี้สายด่วน กรมการแพทย์ 1668 ได้ปรับโฉมใหม่ให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยทำงานคอลเซ็นเตอร์หน้าบ้าน ในการรับสายเพื่อนำข้อมูลส่งต่อไปยังบุคลากรสาธารณสุขที่อยู่หลังบ้าน ทำการแนะนำประชาชน เพื่อประสานหาเตียงให้เร็วที่สุด

โดย 1668 ดำเนินงานบริหารจัดการแบบ One stop service บูรณาการร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์ กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ภาคเอกชน และจิตอาสาร่วมกันประสานเตียง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง

ด้าน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเสริมว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายว่า ผู้ติดเชื้อโควิดทุกรายต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ทั้งหมด เมื่อตรวจพบเชื้อแล้ว ต้องรายงานผลเข้ามา ภายใน 3 ชม. และทาง 1668 จะติดต่อและสอบถามว่า ผู้ติดเชื้อมีเตียงรองรับแล้วหรือไม่ หากไม่มีจะติดต่อขอเตียงให้

และเมื่อจัดหาเตียงให้แล้วขออย่าปฏิเสธการรักษาโดยขอให้ถึงมือแพทย์โดยเร็วเพื่อความปลอดภัยที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่ามีคนปฏิเสธการรักษาอยู่บ้าง แต่เป็นจำนวนไม่มาก จึงขอความร่วมมือให้เข้ารักษาในระบบเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจายในครอบครัวหรือชุมชนที่อาศัยอยู่