วันฉัตรมงคล ประดับไฟเฉลิมพระเกียรติ งดงามทั่วถนนราชดำเนิน

เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี “วันฉัตรมงคล” ประดับไฟงดงาม ทั่วบริเวณถนนราชดำเนิน

วันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล  (Coronation Day) ซึ่งเป็นวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก มีความเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นขั้นตอนตามโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ไทยได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ ด้วยการถวายน้ำอภิเษก แบ่งออกเป็น 2 พระราชพิธีสำคัญคือ 1. พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และ 2.พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

พระราชประวัติ วันฉัตรมงคล

สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า พระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค ฉลองสิริราชสมบัติเนื่องในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชวงศ์จักรี เริ่มมีครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตามธรรมเนียมเดิม ในเดือน ๖ (ตรงกับเดือนพฤษภาคม) เจ้าพนักงานทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระราชนิเวศน์ จะทำพิธีสมโภชเป็นการภายใน

โดยฝ่ายในจะตั้งเครื่องสังเวย เครื่องประโคม และร้อยดอกไม้ประดับบูชา ส่วนฝ่ายหน้าจะจัดพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระด้วย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีกุนตรีศก จ.ศ. ๑๒๑๓ ตรงกับวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ นั้น ตรงกับเดือนที่เจ้าพนักงานทำพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภค

จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกและพระราชทานชื่อว่า “ฉัตรมงคล” โดยจัดการพระราชพิธีในเดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ๑๔ ๑๕ ค่ำ และแรม ๑ ค่ำ รวม ๔ วัน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับบรมราชาภิเษกเมื่อวันพุธ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จ.ศ. ๑๒๓๐ ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๑ แต่ยังคงให้จัดพระราชพิธีฉัตรมงคลในเดือน ๖ ตามแบบอย่างในรัชกาลที่ ๔ ต่อมา

จนกระทั่งเมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ ๒ ในวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีระกาเบญจศก จ.ศ. ๑๒๓๕ ตรงกับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๖ พระองค์โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองด้วย

ในปีต่อมาจึงย้ายเวลาจัดพระราชพิธีฉัตรมงคลจากเดือน ๖ มาทำในเดือน ๑๒ และเรียกว่า “การสมโภชพระมหาเศวตฉัตร” มีการจัดพระราชพิธีรวม ๔ วัน ในเดือน ๑๒ แรม ๑๐ ค่ำ ถึงแรม ๑๓ ค่ำ

ทั้งนี้ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) พระราชพิธีฉัตรมงคลจัดขึ้นทุกวันที่ 5 พฤษภาคม เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493

ต่อมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีนี้ขึ้นในวันที่ 4 – 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 โดยพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเป็นทางการจัดขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 (วันฉัตรมงคลถูกกำหนดวันขึ้นตามวันบรมราชาภิเษก) และในปีถัดไปจึงถือว่าวันนี้เป็นวันฉัตรมงคล

คณะรัฐมนตรี ได้มีมติกำหนดให้ วันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระปฐมบรมราชโองการ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พสกนิกรชาวไทย จึงได้ถือเอาวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล เพื่อน้อมรำลึกถึงวันสำคัญนี้

กิจกรรมที่ประชาชนควรปฏิบัติ

1. ร่วมทำบุญตักบาตร ถวายเป็นพระราชกุศล เพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิต
2. ถวายพระพรชัย
3. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน
4. ร่วมทำความดี ปลูกต้นไม้ กิจกรรมจิตอาสา ช่วยเหลือสังคม

จัดไฟเฉลิมพระเกียรติ

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยเมื่อ (30 เม.ย.) ว่า ด้วยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งว่า เนื่องในโอกาสวันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม 2564 รัฐบาลเห็นสมควรดำเนินการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันฉัตรมงคล เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

ทั้งนี้ ในวานนี้ (3 พ.ค.) บริเวณถนนราชดำเนินมีการจัดซุ้มไฟเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันฉัตรมงคล พร้อมด้วยการประดับประดาอย่างสวยงาม