กทม.เข้มคัดกรองโควิด “คลองเตย-ปทุมวัน” รักษา-ให้ยาฟาวิพิราเวียร์กรณีติดเชื้อ

“อัศวิน” ลงพื้นที่ดูคัดกรองโควิดคลัสเตอร์ “คลองเตย-ปทุมวัน” เผยศักยภาพตรวจได้จุดละ 1,000 คน เร่งเพิ่มจุดคัดกรองในคลองเตยอีก 4 แห่ง ชี้ผู้ที่ผลตรวจเป็นบวกขอให้รับการรักษา – พร้อมจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์

วันที่ 4 พ.ค. 2564 เวลา 10.30 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แก่ประชาชน โดยรถพระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย พร้อมมอบเจลแอลกอฮอล์ให้แก่ประชาชนที่มารอรับบริการ ณ บริเวณศูนย์สร้างสุขทุกวัยชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ และตลาดคลองเตย เขตคลองเตย

ตรวจคัดกรองชุมชนบ่อนไก่ 1,000 คน

สำนักงานเขตปทุมวัน ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 16 ลุมพินี กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดหน่วยเคลื่อนที่ทำการตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากกลุ่มเสี่ยงที่ภายในชุมชนบ่อนไก่ โดยรถพระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย จำนวน 3 คัน เพื่อใช้ในงานเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง บริเวณศูนย์สร้างสุขทุกวันชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เขตปทุมวัน ทำการตรวจกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสสัมผัสสูงภายในชุมชนพื้นที่เขตปทุมวัน ในวันนี้ (4 พ.ค. 2564) จำนวนประมาณ 1,000 คน เพื่อเร่งควบคุมโรค โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เขตปทุมวัน อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาตรวจคัดกรอง

คัดกรองที่คลองเตยอีก 600 คน

จากนั้น ผู้ว่า กทม. ตรวจเยี่ยมการให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ณ บริเวณลานจอดรถตลาดคลองเตย โดยนำรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำนวน 2 คัน เพื่อใช้ในงานเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง ส่งตรวจหาเชื้อ ด้วยวิธีการ SWAB จำนวนผู้รับการตรวจประมาณ 600 คน โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เขตคลองเตย อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่มาตรวจคัดกรอง

ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า กทม. ได้ร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ลงพื้นที่ให้บริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ตามข้อสั่งการของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความเป็นห่วงในสุขภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนพื้นที่คลองเตยและปทุมวัน

ยันพร้อมส่งต่อรักษาตัว-ให้ยาฟาวิพิราเวียร์

จากการลงพื้นที่วันนี้ (4 พ.ค. 2564) จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่จัดระบบการรอรับบริการให้เหมาะสม โดยให้นัดประชาชนมารอรับบริการตามช่วงเวลา เพื่อลดระยะเวลาการรอคอย และไม่ให้เกิดความแออัดในการใช้บริการ รวมทั้งให้ความมั่นใจแก่ประชาชนว่า หากติดเชื้อ กทม.พร้อมจะนำส่งเข้าสู่ระบบการรักษาของ กทม. ซึ่งมีอยู่หลายแห่ง แบ่งการรักษาตามระดับอาการของผู้ป่วย พร้อมมอบยาฟาวิพิราเวียร์ให้แก่ผู้ป่วยตามระดับอาการที่แพทย์ประเมิน ซึ่ง กทม.ได้ดำเนินการจัดซื้อยาดังกล่าวเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

 

 

เน้น “คลองเตย-ปทุมวัน” ผลตรวจลบขอให้ฉีดวัคซีน

โดยการ Swab ในครั้งนี้ เขตปทุมวันสามารถให้บริการได้วันละ 1,000 คน ในส่วนของคลองเตยได้กำชับให้เขตเพิ่มจุดให้บริการตรวจให้ได้อีก 4 จุด สามารถตรวจได้วันละ 1,000 คน รวม 4,000 คน สำหรับผลการตรวจจะแจ้งให้ผู้รับการตรวจทราบภายใน 24 ชม. โดยผู้ที่มีผลการตรวจเป็น Negative หรือไม่ติดเชื้อขอให้ไปรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทุกคน ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานเขตเพิ่มจุดบริการวัคซีนให้ทั่วถึง โดยกทม.ตั้งเป้าจะฉีดให้ครอบคลุมประชาชนในพื้นที่ 50,000 คน คิดเป็นร้อยละ 70 ของประชาชนในพื้นที่

ขอผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเข้ารับการตรวจ

สำหรับประชาชนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและต่ำได้เร่งประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติตนให้ทราบโดยทั่วถึง โดยกรณีที่จัดเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือ อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยภายในระยะ 1 เมตร โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย นาน 5 นาทีขึ้นไป อยู่ในสถานที่ปิดอับอากาศหรือห้องแอร์กับผู้ป่วยเกิน 15 นาที สัมผัสกับสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยโดยตรงโดยไม่ได้ป้องกัน

เช่น ถูกไอหรือจามรด จับทิชชู่ หรือขยะปนเปื้อนจากผู้ป่วย หรือเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยหรือผู้ที่อยู่ในบ้านเดียวกับผู้ป่วยในขณะที่มีอาการป่วย ให้กักตัวทันที และเข้ารับการตรวจโควิด-19 ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาล หรือหน่วยบริการตรวจเชิงรุกใกล้บ้าน

ระหว่างรอผลตรวจให้กักตัว หรือหากมีอาการป่วยทางเดินหายใจ มีไข้หรือหายใจลำบากให้รีบติดต่อศูนย์บริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน และหากผลยืนยันติดเชื้อและยังไม่ได้รับการนำส่งเข้าสู่ระบบการรักษาสามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ ศูนย์เอราวัณ 1669 หรือไลน์แอด bkkcovid19connect เพื่อประสานเจ้าหน้าที่เข้าสู่ระบบการรักษาอย่างเร่งด่วนต่อไป

สำหรับกรณีอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากกรณีของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ถือว่าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้ปฏิบัติตนตามแนวทาง New Normal และสังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติให้รีบติดต่อศูนย์บริการสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน